A Beautiful Mind
(2001)
ก่อนดูหนังเรื่องนี้เราคิดว่า A Beautiful Mind เป็นหนังชีวประวัติของ John Nash นักคณิตศาสตร์ผู้บุกเบิกทฤษฎีเกม ในสไตล์เดียวกับที่ The Imitation Game เป็นหนังชีวประวัติของ Alan Turing หรือ The Theory of Everything เป็นหนังชีวประวัติของ Stephen Hawking
…แต่เราคิดผิด
และรู้ว่าคิดผิดตั้งแต่ฉาก “หักมุม” นั้นเป็นต้นไป (ที่ติดอัญประกาศไว้ตรง “หักมุม” เพราะฉากนั้นสร้างจากเรื่องจริง ถ้าใครที่รู้อยู่แล้วอาจจะไม่เซอร์ไพรส์มาก แต่ใครที่ยังไม่รู้ – เช่นเรา – อาจจะถึงกับอ้าปากเหวอ)
เพราะฉะนั้นถ้าใครยังไม่ได้ดูก็ข้ามไปอ่านเรื่องต่อไปนะ ต่อจากนี้มีสปอยล์เลอร์นะ
โอเคนะ? โอเค
ฉากที่เราพูดถึงก็คือฉากที่พระเอก นางเอก และคนดู รู้ว่า Nash นั้นป่วยเป็นโรคจิตเภท (schizophrenia) และมีอาการหวาดระแวง (paranoia) รวมถึงเห็นภาพหลอน
หนังเปิดเผยว่า Parcher, Charles และหลานสาวของ Charles นั้นเป็นแค่เศษส่วนของจินตนาการของแนช และคนดูก็ได้เห็นว่าโลกของแนชนั้นพังโครมลงมาอย่างรวดเร็ว จากสายลับอเมริกันที่พยายามแกะรหัสการยักยอกอาวุธนิวเคลียร์เข้าประเทศ กลายเป็นผู้ป่วยทางจิตที่ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลิน (Insulin Shock Therapy) ชักดิ้นชักงออาทิตย์ละห้าครั้ง และเราว่าหนังเล่าเรื่องนี้ได้ดีมาก ทั้งความแตกต่างของสี (ฉาก paranoia ของแนชจะมืด และเริ่มมืดลงเรื่อย ๆ จนมาไคลแมกซ์ที่โรงพยาบาล แล้วตัดกลายเป็นสีขาวสว่าง มีแค่ Alicia คนเดียวที่ใส่เสื้อสีดำ เหมือนกับบอกว่าอลิเชียเป็นสิ่งเดียวที่เหลืออยู่หลังโลกของเขากลายเป็นแค่ภาพในหัว) ทั้งเสียงดนตรี หนังไม่ใส่ flashback ไปถึงฉาก foreshadowing ก่อนหน้านี้ (เช่นฉากที่พาร์เชอร์เดินออกไปหลังตึก แล้วเพื่อนร่วมงานโผล่ออกมาถาม แต่เพื่อนร่วมงานไม่ได้หันไปดูพาร์เชอร์) เพราะมันไม่จำเป็น เพราะคนดูนี่แหละจะเป็นคน flashback ไปเอง
พูดถึง foreshadowing ก็มีหลายฉากเหมือนกันที่ใบ้ให้เราเห็นแล้วว่านี่มันไม่ใช่เรื่องจริง อย่างเช่นตอนที่พาร์เชอร์ใส่รหัสผ่านประตูลงไปในแขนของแนช ในยุคนั้นไม่มีเทคโนโลยีอย่างงั้นแน่ หรือตอนที่แนชส่งงานวิจัยให้อาจารที่ Princeton ดู ชารลส์ไม่มีทางมายืนตรงประตูแน่ และหลังจากที่เรารู้ว่าแนชนั้นมีอาการหวาดระแวง คนดูก็คอยระแวงไปด้วยว่าต่อจากนี้อะไรจริงอะไรปลอมกันแน่ คือหนังเล่นกับ suspension of disbelief ของคนดูในครึ่งแรก แล้วมาทรยศความรู้สึกนั้นในครึ่งหลัง แล้วผลลัพท์มันออกมาดีมาก ชอบ