Adaptation.
(2002)
หมายเหตุ: เราเขียนเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ใน tumblr เพราะฉะนั้นบริบทอาจจะแปลก ๆ ไปหน่อย
อืม
พอดูหนังเรื่องนี้จบ เราก็เปิด tumblr แทบจะทันที ความรู้สึกทั้งบวกและลบมันแน่นหัวจนอยากจะแสดงมันออกมาผ่านปลายนิ้วมือที่กรีดรีดไปตามคีย์บอร์ด แต่มันอาจจะไม่ได้ง่ายอย่างงั้น หลังจากที่มองเส้นบาง ๆ แนวตั้งกระพริบได้ราวหกเจ็ดกระพริบ เราถอนหายใจเบา ๆ
“หนังเรื่องนี้มันพูดถึงโดยไม่สปอยล์ไม่ได้เลยนี่หว่า” เราคิดในใจ “แต่ก็อยากให้คนที่ยังไม่เคยดูได้รู้ว่าหนังเรื่องนี้มันฉลาด มันพิเศษยังไง โดยที่ไม่สปอยล์แกนหลักของเรื่อง”
แล้วความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัว เหมือนกระแสไฟฟ้าที่เข้ามาเปิดหลอดไฟบนหัวดัง ปิ๊ง
“ทำไมเราไม่เอาจุดเด่นของหนังมาทำเป็นจุดเด่นของรีวิว (หรือจะเรียกท่อนนี้ของโพสนี้ว่าอะไรก็ตาม) ซะเลย ถ้าหนังเรื่องนี้เป็น meta-screenplay เป็นบทหนังเกี่ยวกับตัวมันเอง เราก็เขียนรีวิวนี้แบบ meta ซะเลยสิ!” เราคิดกับตัวเอง ที่มุมปากเกิดรอยยิ้มผยอง เรานี่มันฉลาดฉิบหาย ลูกเล่นแพรวพราวนัก
คิดได้ดังนั้น เราก็ลงมือเขียน พอถึงย่อหน้าที่หก — นึกขึ้นได้ว่าหลังจากนี้อาจมีสปอยล์เลอร์ — เราจึงพิมพ์คำเตือนไว้เป็นตัวหนาว่าต่อจากนี้มีสปอยล์เลอร์
และพิมพ์ต่อ
มาถึงตรงนี้เราเห็นว่าตัวเองพิมพ์มาได้ซักพักแล้ว ยังไม่ได้พูดถึงตัวหนังเลย
ความรู้สึกตอน “เก็ต” ว่าหนังทั้งเรื่องเกี่ยวกับเรื่องราวของคนเขียนบทในการเขียนบทหนังเรื่องนี้มันแบบ mindblowing นิด ๆ อะ
ความลึกของหนังเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อเรารู้ว่า Donald Kaufman ไม่มีตัวตนอยู่จริง การที่ Donald พูดถึงอาการหลายบุคลิก ไปจนถึงการที่ Donald ชอบเขียนหนัง thriller คลิเช่ แล้วพอ Donald มาช่วย Charlie เขียน หนังก็เปลี่ยนแนวไปเป็น thriller ทันที เราว่ามันฉลาดมาก
แถมความ self-aware ของตัวหนังเองอย่างการที่ Robert McKee พูดถึงเสียงบรรยายว่าเป็นสิ่งที่แย่ แต่ตัวหนังเองก็มีเสียงบรรยายตลอด หรือที่ McKee พูดถึง deus ex machina ว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจ แต่ในไคลแม็กซ์ของหนังดันมีไอ้เข้โผล่มาเฉยเลย
ยิ่งคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเห็นความฉลาดของหนังมากเท่านั้น
เมื่อละเลงความรู้สึกที่มีต่อหนังจนหนำใจแล้ว เราก็เลื่อนเมาส์ไปหาปุ่มสีฟ้าด้านล่างขวาของหน้าจอ แล้วก็กด Post.