Baby Driver
(2017)
หนังเรื่องใหม่ล่าสุดของผู้กำกับ Edgar Wright ที่นาน ๆ จะทำหนังออกมาที โดยหนังก่อนหน้าเรื่องนี้ก็คือ The World’s End ที่เข้าโรงเมื่อสี่ปีที่แล้วนู่น (ไม่นับ Ant-Man ที่พี่แกถอนตัวไปกลางคัน แต่ได้เครดิตเขียนบท อันนี้นอกเรื่องละ)
It’s been a long time, Baby
เราตั้งใจรอดูหนังเรื่องนี้มานานมาก ตั้งแต่ประกาศชื่อ “Baby Driver” ไปจนถึงตอนแคสต์นักแสดง จน post-production จนประกาศวันฉาย พร้อมเทรลเลอร์ จนต่างประเทศได้ดูกันแล้ว
แต่กว่าจะเข้าไทยก็เกือบสามเดือนให้หลัง โดดหลบสปอยเลอร์กันไปยาว ๆ
ที่ติดตามขนาดนี้เพราะเราชอบหนัง Edgar Wright ที่เคยดูทุกเรื่องเลย ทั้ง Scott Pilgrim ทั้งไตรภาคคอร์เน็ตโต้ (Shaun of the Dead, Hot Fuzz, The World’s End)
Edgar Wright เป็นผู้กำกับที่มีสไตล์ชัดเจนมาก ถึงจะสร้างหนังออกมาหลายแนว ทั้งหนังดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน หนังซอมบี้ หนังตำรวจ หนังเอเลี่ยน แต่ถ้าตัดคลิปสั้น ๆ มาก็จะดูออกเลยว่านี่แหละหนัง Edgar Wright
เอกลักษณ์ของหนัง Edgar Wright หลัก ๆ ก็คือ visual comedy หรือการเล่นมุกผ่านภาพ การเคลื่อนไหว แสง ดนตรี หรืออะไรก็ตามนอกเหนือจากบทพูด พี่แกเอามาเล่นมุกได้หมด เราชอบวิดีโอนี้ของ Tony Zhou ที่เปรียบเทียบหนัง Edgar Wright กับหนังตลกทั่วไป มีตัวอย่างเพียบเลย ลองไปดู
ซึ่งถ้าใครที่ดูหนังทั้งสี่เรื่องที่เราพูดถึงข้างบนแล้วมาเทียบกับ Baby Driver จะเห็นได้ว่า Baby Driver นั้นมีโทนที่ต่างออกไป โดยเฉพาะกลางถึงท้ายเรื่อง ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียคือ มันไม่เหมือนกับหนัง Edgar Wright เรื่องอื่น
ข้อดีคือ มันไม่เหมือนกับหนัง Edgar Wright เรื่องอื่น
มันไม่เหมือนกับหนัง Edgar Wright เรื่องอื่น, Baby
ที่เราบอกว่าโทนของ Baby Driver ต่างจากหนังเรื่องอื่นของ Edgar Wright เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยมุกตลก ไม่ได้ดึงเอาสิ่งต่าง ๆ ในเฟรมมาเรียกอารมณ์ขันเท่าไหร่ จะมีก็ช่วงต้นหนังที่สไตล์ Edgar Wright แน่นมาก เหมือนกับโชว์ของให้หายคิดถึง
เราชอบฉากแรก ๆ ของหนังที่ Baby (เล่นโดย Ansel Elgort) เปิดเพลง Harlem Shuffle ฟังระหว่างเดินไปซื้อกาแฟ แล้วเนื้อร้องที่ถูกเขียนไว้ตามต้นไม้ กำแพง ก็โผล่เข้ามาในเฟรมตรงกับเพลงพอดี
เป็นการใช้ลูกเล่นแบบ Edgar Wright ในแบบที่ไม่ได้ตลกขำกลิ้ง แต่ก็ทำให้คนดูมีเสียงหึหึอยู่ในลำคอ
แต่นอกจากตอนต้น–กลางเรื่องแล้ว ลูกเล่นแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีให้เห็นเท่าไหร่ เหมือนกับหนังค่อย ๆ เฟดไปเป็นหนังแอ็กชั่นดี ๆ เรื่องนึง
การคัทแบบเร็ว ๆ ในหนังเรื่องก่อน ๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยบทพูดที่ยาวขึ้น ปล่อยให้ตัวละครมีพัฒนาการมากขึ้น ให้ในแต่ละฉากมีช่องว่างได้หายใจ ซึ่งถ้าใครชอบ Edgar Wright เพราะสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะดูหนังเรื่องนี้แล้วยังไม่อิ่ม
แต่สิ่งนึงที่ยังคงความเป็น Edgar Wright ได้เต็มเปี่ยมคือความละเอียดของหนังในระดับที่ไม่มีใครเก็บรายละเอียดได้หมด อย่างมุกเนื้อร้องตอนต้นเรื่องที่เราพูดถึง หรือการ foreshadow ผ่านทีวี (ถ้าใครดู Shaun of the Dead อาจจะนึกออก)
มีฉากนึงที่ Baby ยืนอยู่ในร้านกาแฟ แล้วข้างหลังมีภาพวาดเล็ก ๆ บนกำแพงนอกร้านกาแฟเป็นหัวใจสีเทา กล้องแพนไปที่ Debora (เล่นโดย Lily James) (ซึ่ง ณ จุดนี้คนดูยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเธอเป็นนางเอกของเรื่อง) พอกล้องแพนกลับมาภาพวาดหัวใจนั้นกลายเป็นสีชมพู
หนังอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดแบบเนี้ย สุดยอดมาก
สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ลองฟังบทสัมภาษณ์นี้ดู คือ Edgar Wright เป็นคนที่เขียนบทละเอียดมาก การตัดต่อ เพลง อะไรพวกนี้ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดีและถูกเขียนเข้าไปในสคริปต์ตั้งแต่ยังไม่เปิดกล้อง
เอกลักษณ์อีกอย่างนึงที่มีให้เห็นเหลือเฟือคือซาวนด์เอฟเฟ็กต์ที่เข้ากับจังหวะเพลง อันนี้แหละจุดเด่นของหนัง
All about the tunes, Baby
เพลงคือหัวใจของหนังเรื่องนี้จริง ๆ
มีคนนิยามว่า Baby Driver คือ action musical ซึ่งใช่มาก กิมมิกของหนังเรื่องนี้คือการซิงก์ดนตรีให้เข้ากับการเคลื่อนไหวของตัวละคร ลองดูฉากนี้ใน Shaun of the Dead แล้วคือแทบทั้งเรื่องมีแอ็กชั่นเป็นจังหวะแบบนี้ ทั้งฉากนับเงิน ฉากเดินบนถนน กระทั่งตอนยิงกันก็ยิงไปตามเสียงเพลง
เอาออสการ์ไปเถอะ
Conclusions… Baby
ถึงแม้ Baby Driver จะไม่ใช่หนังที่มีมุกตลกแบบ Edgar Wright ให้เห็นมากนัก แต่ก็เป็นหนังที่สนุกสุด ๆ และอัดแน่นไปด้วยรายละเอียดแบบที่ดูครั้งเดียวไม่พอ มันคือหนังแอ็กชั่นที่ไม่ซ้ำซาก ตัวละครที่มีสีสันพร้อมกับเพลงสนุก ๆ
ไปดูเถอะ
ส่วนถ้าใครดูแล้วชอบ เราก็แนะนำหนังเรื่องอื่นของ Edgar Wright ทุกเรื่องเลย โดยเฉพาะ Hot Fuzz เราชอบมาก