Barbie
(2023)
เราติดตามหนังเรื่องนี้มาตั้งแต่เจอพาดหัวเมื่อสองปีก่อนว่า
“Greta Gerwig to direct upcoming ‘Barbie’ movie starring Margot Robbie”
มันพาให้นึกตามใช่ไหมว่าการเอาแบรนด์ของ Gerwig กับแบรนด์ของ Barbie มาผสมกันมันจะออกมาแบบไหน จะอินดี้เหมือน Lady Bird และ Little Women (2019) หรือจะออกแนวสะอาดสะอ้าน เป็น nostalgia-bait summer blockbuster เชิดชูของเล่นวัยเด็ก ผลที่ได้คือบทแบบหนังอินดี้ แต่คนแน่นโรงแบบหนังฟอร์มยักษ์ (อย่างน้อยก็รอบที่เราไปดู ไม่แน่ใจว่าจะทำรอบได้มากน้อยแค่ไหนในฤดูที่หนังใหญ่เยอะมาก) ซึ่งดี เห็นคนเต็มโรงเข้าไปฟังบทพูดเพี้ยน ๆ สไตล์ Gerwig/Baumbach แล้วก็ชื่นใจ
เราอยากเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับธีมหลัก 2 อย่างของหนัง คือ feminism และ consumerism — บอกก่อนว่าหนังมีธีมเยอะกว่านี้ แต่ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือสองอย่างนี้
เธอคือทุกสิ่ง
ตอนต้นเราพูดถึงภาพลักษณ์ของ Greta Gerwig และ ตุ๊กตาบาร์บี้ว่าต่างกันขนาดไหน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองแบรนด์มีร่วมกันคือการนำเสนอ women’s empowerment ในสื่อ และ Barbie ก็โฟกัสเรื่องนี้ตามคาด
ประเด็นคือเราเห็นหลายคนมองว่าหนังเรื่องนี้วาดภาพเฟมินิสม์แบบขาวดำเกินไป ขาด nuance โลกจริงไม่ได้ง่ายอย่างงั้น ฯลฯ มันทำให้เรานึกถึง coastline paradox ที่บอกว่าการวัดระยะทางแนวชายฝั่งนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราวัดละเอียดขนาดไหน ยิ่งใช้เครื่องมือวัดที่ละเอียด แนวชายฝั่งก็ยิ่งมีระยะทางยาวขึ้น
Barbie ก็เช่นกัน อยากจะพิจารณาหนังละเอียดแค่ไหน หนังก็จะมี nuance ให้เท่านั้น เช่นถ้าอยากมองว่าหนังพูดถึงเฟมินิสม์แบบง่าย ๆ เด็ก ๆ ก็เข้าใจได้ สนใจแค่ช่วงเกริ่นนำของหนังที่บอกว่าเด็กผู้หญิงจะโตมาเป็นหมอ เป็นประธานาธิบดี เป็นทนาย หรืออะไรก็ได้ ซึ่งมันก็เป็นแมสเสจของตุ๊กตาบาร์บี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ถ้าอยากให้มี baby’s first feminist movie หนังที่เกี่ยวกับตุ๊กตาบาร์บี้ก็เมคเซนส์ไม่ใช่เหรอ
และถ้าดูเกินสิบนาทีแรกก็จะเห็นว่าหนังพูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยที่ส่วนใหญ่ของพล็อตก็โฟกัสไปที่ปัญหาของปิตาธิปไตยเป็นหลัก หรือมากกว่านั้นคือหนังก็นำเสนอปิตาธิปไตยว่า นอกเหนือจากความผิวเผินของ men = bad แล้วมันมีรายละเอียดลงลึกไปมากกว่านั้นด้วย เช่นการอธิบายว่าปิตาธิปไตยมันฝังรากลึกลงไปมากกว่าการแสดงออกของผู้ชาย และกระแสเฟมินิสม์ในสมัยนี้ก็ไม่ได้ทำให้ปิตาธิปไตยหายไปไหน “แค่ซ่อนได้เนียนขึ้น” เท่านั้นเอง หรือมีฉากนึงที่วิจารณ์ตุ๊กตาบาร์บี้ว่าเป็นบ่อกำเนิดของ unrealistic beauty standard ที่ทำให้เกิด internalized misogyny ตามมา
ถ้ามากไปกว่านั้น หนังก็พูดถึง intersectionality ที่คาบเกี่ยวกับเพศสภาพ และเชื้อชาติด้วย (แต่พูดถึงไม่เยอะ)
เพราะฉะนั้นเราคิดว่าถ้ามองว่าหนังพูดถึงเฟมินิสม์แบบไม่มี subtlety หรือไร้ชั้นเชิง เราเข้าใจได้ (แม้จะไม่เห็นด้วย) แต่ถ้าบอกว่าหนังขาด nuance เราว่าไม่ใช่เลย
ยิ่งถ้าบอกว่าเป็นหนัง anti-men นี่ถ้าไม่พูดแบบมีวาระแอบแฝงก็คงจะ media illiterate
เขาก็แค่เคน
เราว่า Barbie เป็นการทำหนังที่ “ใจดี” พอสมควรเลย เวลาเล่าเรื่องแบบนี้เราว่ามันง่ายที่จะ personify ปัญหาเชิงโครงสร้างให้ออกมาเป็นตัวละครใจดำอำมหิตที่เหล่านางเอกต้องต่อกรด้วย เช่น มันง่ายมากที่จะให้เหล่าเคนทั้งหลายเป็นตัวแทนของ toxic masculinity ที่ต้องถูกกำจัด แต่จะเห็นว่าในหนังเรื่องนี้ เคนไม่ใช่ตัวละครแบบนั้นเลย เคนไม่ใช่ตัวแทนของผู้ชายที่กรีดร้องคำว่าโว้คนั่น โว้คนี่ ในโซเชียลมีเดีย เคนไม่ใช่ตัวแทนของเกมเมอร์™ที่พิมพ์ด่า Supergiant เพราะ Hades ภาคสองมีตัวละครหลักเป็นผู้หญิง
แต่เคนคือตัวแทนของเด็กผู้ชายที่กำลังตกเป็นเหยื่อของแนวคิดปิตาธิปไตยต่างหาก หนังได้สำรวจที่มาว่าทำไมพวกเขาถึงได้หลงไปติดกับดักความคิดแบบนี้ แล้วลงท้ายด้วยการบอกว่า เลิกเอาอัตลักษณ์ของตนไปผูกกับปัจจัยภายนอกซะ แล้วหันมายอมรับในตัวตนของตนเอง
เพราะ cynicism มันง่าย การเลือกที่จะมี compassion เลยน่าชื่นชม
เธอ เขา และทุนนิยม
Barbie พูดถึงทุนนิยม และบริโภคนิยมเป็นครั้งคราว แต่เป็นการพูดถึงในแง่หยอกล้อขำขันมากกว่าการวิจารณ์แบบจริงจัง
มันวิจารณ์แบบจริงจังไม่ได้ เพราะถ้าหนังที่สิบวินาทีแรกคือโลโก้ Warner Brothers ตามด้วยโลโก้ Mattel มาวิจารณ์ทุนนิยมมันจะไปมีความหมายอะไร
เพราะถ้าหนังที่เปิดตัวพร้อมสินค้าชื่อว่า “Barbie the Movie Collectible Doll, Margot Robbie As Barbie In Pink Gingham Dress” ราคา $25.00 พูดถึงบริโภคนิยม มันจะดูตลก
สุดท้ายเลยได้แต่เล่นมุกว่า CEO ของ Mattel ในหนัง (เล่นโดย Will Ferrell) นั้นหิวเงินจังเลย ฮ่า ฮ่า (แต่ก่อนกลับบ้านอย่าลืมซื้อ Barbie the Movie Fashion Pack With three Iconic Film Outfits And Accessories, $75.00 นะ) เหมือนกับรายการ Last Week Tonight ที่เล่นมุกล้อ HBO (ที่เป็นเน็ตเวิร์กของตัวเอง) อยู่บ่อย ๆ แต่ก็ทำได้แค่ล้อเลียนไม่กี่ประโยค ไม่ได้ลงลึกไปกว่านั้น
สรุป
เห็นได้ชัดว่า Barbie ไม่ได้ต้องการเป็นนักสู้แถวหน้าในขบวนการเฟมินิสม์อะไรขนาดนั้น แต่ก็เป็นหนังที่พูดถึงปัญหาเชิงโครงสร้างแบบตรงไปตรงมา ย่อยง่าย ดูง่าย และประดับประดาไปด้วยพลาสติกสีชมพู แต่เมื่อใดที่เฟมินิสม์มาคาบเกี่ยวกับปัญหาทุนนิยม หนังก็คงทำได้แค่หยอกเบา ๆ เพราะถ้ามากกว่านั้นอาจจะเห็นว่ามีโลโก้ Mattel ปิดปากอยู่