จากหนังที่แฟน ๆ หลายคนกลัวว่าจะถูกมองข้ามเพราะเข้าฉายก่อน Avengers: Infinity War แค่ไม่กี่เดือน กลายมาเป็นหนัง MCU ที่ถูกใจทั้งคนดูและนักวิจารณ์ (98% Rotten Tomatoes จาก 230 รีวิว ณ เวลาเขียน) กับเรื่องราวของ T’Challa ที่จะต้องพิสูจน์ตัวตนเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์แห่ง Wakanda

ระหว่างแอฟริกันและแอฟริกัน-อเมริกัน

Black Panther คือหนังมาร์เวลที่มีข้อความทางการเมืองหนักมือที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย หนังโฟกัสไปที่การกดขี่ (oppression) ของคนผิวดำในสังคมอเมริกัน และการผลักดันประเด็น anti-isolationism ใน Wakanda ซึ่งการที่หนังมี agenda ที่ต้องการจะนำเสนอให้ผู้ชมนั้นไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกอะไรเลย

แต่ที่ขัดใจเรานิดนึงคือ มันเป็น agenda ที่อเมริกันเหลือเกิน

อเมริกันขนาดไหน ช่วงท้ายเรื่อง T’Challa พูดถึงการที่ Wakanda จะยื่นมือช่วยเหลือชาติอื่น ๆ ว่า “Wise men build bridges, fools build barriers.” (ภาพตัดไปที่ Martin Freeman หัวเราะเบา ๆ ) ซึ่ง barrier ที่ว่านี้ก็เป็นการพูดถึงกำแพงชายแดนของทรัมป์อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ขัดใจเรา (นิดนึง นิดเดียว) คือการที่หนังต้องการเชิดชูความหลากหลาย (diversity) ในด้านสถานที่และวัฒนธรรม ซึ่งในแง่นี้มาร์เวลทำได้สำเร็จ — Black Panther มีโทนที่ต่างออกไปจากหนัง MCU เรื่องอื่น ๆ มาก เคร่งขรึมจริงจังกว่าหนัง MCU เรื่องอื่นมาก แต่ความหลากหลายนั้นหยุดอยู่ที่ภาพและเสียง เพราะพอมาถึงการเล่าเรื่อง (narrative) แล้ว Black Panther ก็วกกลับมาเป็นอเมริกันทันที

กลายเป็นว่าหนังแค่ยืมเอาแอฟริกามาเป็นแท่นยืนเพื่อป่าวประกาศจุดยืนทางการเมืองแบบอเมริกัน

แต่! แต่ที่เราไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่แย่นักคือ หนึ่ง มันเป็น agenda ที่เราเห็นด้วย สอง ยังไงซะ สุดท้ายหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังจากบริษัทอเมริกัน เขียนและกำกับโดยคนอเมริกัน ถ้าผู้กำกับ Ryan Coogler จะใส่ประสบการณ์หรือความเห็นส่วนตัวลงไปในหนังก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

และสาม ความเป็นแอฟริกัน-อเมริกันมันผูกเข้ากับตัวตนของตัวร้ายหลักของเรื่อง Erik Killmonger โดย Killmonger นี้เป็นลูกครึ่ง Wakandan อเมริกัน เกิดและโตในเมืองโอ๊คแลนด์ แคลิฟอร์เนีย และความเหลื่อมล้ำทางชาติพันธุ์และสีผิวที่ Killmonger ได้เผชิญก็กลายมาเป็นแรงจูงใจให้ Killmonger ต้องการเปลี่ยนโลกไปในทางที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้น ในบริบทนี้ ความเป็นอเมริกันก็ฝังรากลึกใน Black Panther ตั้งแต่ต้น

ภาพและเสียง

หนังเรื่องนี้มาพร้อม soundtrack ที่ปล่อยออกมาก่อน (อัลบั้มชื่อ “Black Panther: The Album Music From and Inspired By” ฟังใน Spotify ได้ที่นี่) ถึงจะไม่ใช่อัลบั้มของ Kendrick Lamar ที่เราชอบที่สุด แต่โดยตัวมันเองแล้วก็พอใช้ได้เลย แต่ที่น่าสนใจคือเพลงแร็ปนั้นมาและไปพร้อม ๆ กับ Killmonger ส่วนฉากอื่น ๆ นั้นจะมีดนตรีประกอบเป็นแนวแอฟริกันพื้นเมือง

ด้านภาพและการออกแบบ เรารู้สึกว่า Marvel จะเริ่มพัฒนา design language เพื่อใช้ในสิ่งแวดล้อมที่ไฮเทคเกินโลกจริงไปมาก ๆ จนดูเหมือนเป็นเทคโนโลยีจากต่างดาว จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ Guardians of the Galaxy Vol. 2, ดาว Sakaar ใน Thor: Ragnarok จนมาถึง Wakanda ในหนังเรื่องนี้ การออกแบบ โทนสี วัสดุจะดูคล้าย ๆ กัน โดยมีความแตกต่างทางรายละเอียด เช่นสิ่งปลูกสร้างใน Sakaar ก็จะดูมั่ว ๆ หน่อย เพราะสร้างมาจากกองขยะ จะมีลายและรูปร่างหลาย ๆ แบบอัดรวมเข้าด้วยกัน ส่วน Wakanda ก็จะออกแนว afrofuturism ที่ดึงเอา element ของวัฒนธรรมต่าง ๆ ในแอฟริกามาผสมผสานกับการออกแบบเชิงไซไฟ ทั้งตึกรามบ้านช่อง ไปจนถึงเครื่องแต่งกายของแต่ละชนเผ่า ตัวอย่างของการใช้ design language ของมาร์เวลมาผสมกับ afrofuturism ก็คือชุดของหัวหน้าเผ่า (น่าจะเผ่าแม่น้ำ) ที่ใส่แผ่นดินเหนียวไว้ที่ริมฝีปากเหมือนชนเผ่า Mursi บวกกับชุดสูทสีหยก โทนสีใกล้เคียงกับสนามประลองใน Ragnarok

แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายจุดที่ afrofuturism นั้นผสมกันไม่ลงตัวนัก อย่างเช่น ทำไม Wakanda — ประเทศที่ร่ำรวยและเจริญที่สุดในโลก — ถึงไม่มีถนนในตลาด ร้านค้าต่าง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นทรายและถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่น ทำไมสวนปลูกสมุนไพรวิเศษถึงทำจากหินแทนที่จะเป็นโรงเพาะปลูก เป็นต้น เราว่าบางทีหนังก็ติดขัดในการทำให้ประเพณีแอฟริกันดั้งเดิม (สนามประลองบนน้ำตก) และความเจริญในมุมมองตะวันตก (ห้องทดลองของ Shuri, ยานบิน) สมดุลกัน

ตัวละคร

Klaue (Andy Serkis): รู้สึกแปลก ๆ กับพัฒนาการของ Ulysses Klaue จากพ่อค้าลักลอบ Vibranium มาดนักเลงใน Avengers: Age of Ultron กลายมาเป็น Joker เวอร์ชั่น The Dark Knight ไปซะอย่างงั้น ส่วนตัวเราไม่ชอบความเปลี่ยนแปลงนี้เท่าไหร่แต่ก็พอจะหาเหตุผลมาอธิบายได้ว่าพี่แกโดน Ultron หั่นแขนก็คงจะทิ้งบาดแผลทางจิตใจไว้บ้างแหละ

Nakia & Okoye (Lupita Nyong’o & Danai Gurira): ชอบตอนที่ Nakia กับ Okoye เถียงกันเรื่องความจงรักภักดีต่อบัลลังก์ของ Wakanda กับความจงรักภักดีต่อ T’Challa เป็นฉากที่มีพลังดี (แต่เราจะไม่สปอยล์)

T’Challa (Chadwick Boseman): T’Challa ใน Captain America: Civil War คือเท่มาก ทุกคำพูดทุกย่างก้าวคือ badass สุด ๆ แต่ตัวละครที่น่าสนใจนั้นต้องมีจุดด้อยบ้าง ไม่งั้นเพอร์เฟ็กต์ไปจะน่าเบื่อ และหนังเรื่องนี้ก็รื้อตัวละครนี้ออกมาและใส่ข้อบกพร่องทางอารมณ์เข้าไปได้อย่างแนบเนียน

ในตอนจบของ Civil War นั้น T’Challa พูดกับ Zemo ไว้แบบเท่ ๆ ว่า “Vengeance has consumed you. It’s consuming them. I am done letting it consume me.” พอมาในหนังเรื่องนี้ตัว T’Challa เองก็ต้องเป็นฝ่ายรับมือกับคนที่โดนความโกรธแค้นกลืนกินอย่าง Killmonger เป็นเนื้อเรื่องที่ทาบขนานกันดี

T’Chaka (John Kani): ตั้งแต่ Civil War มาจนถึงช่วงแรกของ Black Panther นั้นหนังพยายามชงตัวละครนี้ให้ดีเลิศไร้ที่ติ เหมือนกับ Mufasa ใน Lion King แต่ก็มาเฉลยว่า T’Chaka นั้นค่อนข้าง xenophobic เลย ไม่ต้องการให้คนนอกเข้ามาในประเทศตัวเอง ถึงคนนอกที่ว่านั้นจะเป็นคนในครอบครัวก็ตาม

Killmonger (Michael B. Jordan): เป็นหนึ่งในตัวร้ายที่ดีที่สุดใน MCU แล้ว เพราะมีจุดมุ่งหมาย มีแรงจูงใจที่เรา (พอจะ) เห็นด้วยและเข้าใจได้ สิ่งที่ Killmonger ต้องการนั้นไม่เห็นแก่ตัว แต่เกิดจากรอยแผลในอดีตและความไม่เท่าเทียมของ “คนอย่างเขา” (ก็คือคนผิวสีในสังคมอเมริกัน) ที่เขาเห็นในสังคม

Killmonger และ Nakia นั้นต้องการสิ่งเดียวกัน คืออยากเห็นโลกที่ไร้การกดขี่ แต่ conflict นั้นเกิดจากการที่ Killmonger ต้องการบรรลุเป้าหมายโดยการ “Rule them right” คือการยึดครองอำนาจในโลก และปกครองมันอย่างถูกวิธี จะว่าไปก็คล้าย ๆ กับ conflict ระหว่าง Xavier กับ Magneto เหมือนกัน

สรุป

Black Panther คือหนังมาร์เวลที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ จริงจังเคร่งขรึมในแง่ของโทนเรื่องและข้อความที่นำเสนอ แต่ก็มีสีสันในการออกแบบคอสตูม มาร์เวลเนรมิต Wakanda ออกมาได้เหนือล้ำ ถึงแม้จะมีบางรายละเอียดที่ไม่ค่อยเข้าที่เข้าทาง ตัวละครเกือบทุกคนมีมิติมาก แต่ละคนก็มีแรงจูงใจที่ชวนให้คนดูเห็นคล้อยตาม มีอุดมคติ และการเอาอุดมคติเหล่านั้นมาปะทะกันทำให้เกิดเนื้อเรื่องที่น่าติดตาม

เราชอบหนังเรื่องนี้พอ ๆ กับ Iron Man (ภาคแรก) เลย ถ้าเอาหนังมาร์เวลมาเรียงลำดับ เราคงให้ Black Panther อยู่ในอันดับต้น ๆ