Blade Runner 2049
(2017)
หนังเรื่องสุดท้ายที่เราดูเมื่อปีที่แล้วคือ Blade Runner (1982) เลยเปิดปีนี้ด้วยการดูภาคต่อ จะได้มีสตอรี่ เหมือนดูหนังข้ามปี จะได้มีอะไรเขียนถึงเวลาจะเริ่มย่อหน้าแรกไงเห็นแมะ
ด้วยความที่ Blade Runner 2049 (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า BR2049) เป็นภาคต่อ เคสนี้เราว่าน่าสนใจเพราะช่วงเวลาจากภาคแรกมาถึงภาคนี้ห่างกันสามสิบกว่าปี ส่วนเวลาในเรื่องก็ผ่านไปพอ ๆ กันคือเกือบสามสิบปี แล้วความต่างของเวลาในและนอกหนังก็เกี่ยวข้องกันมากมาย
ขอพูดถึงช่วงเวลาที่หนังถูกสร้างก่อน คือก่อนเราจะดู Blade Runner ภาคแรกนี่ในใจคิดไว้ว่าอาจจะดูยาก หนังคงจะโบราณ ๆ เอฟเฟกต์ปลอม ๆ เหมือน Return of the Jedi (ที่ออกมาในปีไล่เลี่ยกัน) สรุปคือมันอลังมาก ฉากเหมือนจริงมาก ภาพสวย รายละเอียดตึกรามบ้านช่องต่าง ๆ ไปจนถึงอุปกรณ์ รถลอยฟ้า ออกแบบมาดีมาก ถ้าไม่บอกเราคงเดาว่าหนังเรื่องนั้นออกมาประมาณปี 2000 ต้น ๆ
แต่เราว่าที่มากกว่าความสมจริงหรือรายละเอียดของฉากคือการออกแบบ การสร้างโลกผ่านภาพ ซึ่งจนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่แน่ใจว่ามีหนังเรื่องไหนสร้างโลกแนว cyberpunk ได้ดีเท่า Blade Runner ไหม ที่เห็นก็มี Ghost in the Shell ทั้งต้นฉบับและเวอร์ชั่นฮอลลีวูด (ที่ก็ดูจะได้แรงบันดาลใจมาจาก Blade Runner พอสมควร) นั่นก็หมายความว่า BR2049 ต้องแบกรับความคาดหวังนั้นไว้บนบ่า
และมันก็ไม่ทำให้ผิดหวัง — ซะส่วนใหญ่
BR2049 โดยตัวของมันเองแล้วเป็นหนังที่ภาพสวย สวยมาก อาจจะเป็นหนังที่ภาพสวยที่สุดของปี 2017 เลย หนังทั้งเรื่องดูจะมีโทนสีอยู่สองแบบ แบบแรกคือใช้สีเพื่อเค้นอารมณ์ความรู้สึก คือแทบทั้งฉากจะเป็นโมโนโทน ถ้าฉากในเมืองก็จะเป็นสีฟ้า ให้อารมณ์หนาวเหน็บ เป็นโทนสีที่สื่อถึงความโดดเดี่ยวอ้างว้างซึ่งเป็นหัวใจของ cyberpunk บางทีก็เป็นสีชมพูนีออน ถ้าออกมานอกเมืองก็จะเป็นสีส้มของทะเลทราย สีเขียวของธรรมชาติในบางตอน เราชอบฉากแนวนี้ มันดูจงใจดี
แต่กับ BR2049 เรากลับชอบโทนสี “ปกติ” มากกว่า คือในฉากที่ตัวละครคุยกันปกติ ฉากพระเอกเดินกลับบ้าน ไรงี้ มันคือโทนสีแบบหนัง Villeneuve อะ โทนเดียวกับ Arrival หรือ Sicario มันจาง ๆ จืด ๆ แต่ก็ให้ความรู้สึกอบอุ่น พอเอามาอยู่ในโลกที่มืดมัวเราว่ามันคอนทราสต์กันดี (ตอนแรกเราไม่แน่ใจว่าภาพแนวนี้เป็นสไตล์ของผู้กำกับ Villeneuve หรือผู้กำกับภาพ Roger Deakins กันแน่ แต่ Deakins ไม่ได้เป็นคนกำกับภาพให้ Arrival เลยน่าจะเป็นสไตล์ของ Villeneuve มากกว่า)
แต่ที่รู้สึกแปลก ๆ คือความแตกต่างระหว่างสีใน Blade Runner กับ BR2049 รู้สึกเหมือนดูหนังคนละเรื่องเลย Blade Runner ภาคแรกสีเข้มมาก saturate มาก มันทำให้รู้สึก disconnect เหมือนไม่ใช่หนังภาคต่อ
แล้วความรู้สึก disconnect นี้มันก็เชื่อมมายังโลกในหนังด้วยเช่นกัน อย่างที่เราบอกไว้ตอนต้นคือเวลาของโลกในหนังระหว่างสองภาคนี้ก็ผ่านไปเกือบสามสิบปีเหมือนกัน ทำให้มันมีช่องโหว่ในเนื้อเรื่องที่ BR2049 ก็บอกใบ้อยู่หลายฉาก ทั้งความเปลี่ยนแปลงทางสภาพเศรษฐกิจ ระบบชนชั้นทางสังคม ไปจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมถูกสะท้อนให้เห็นหมด หนังพูดถึงทัศนคติของคนต่อ replicant (หุ่นยนต์ที่หน้าตาเหมือนคน) ว่าเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างหลังจากเหตุการณ์ในหนังภาคแรก หนังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านอำนาจของบริษัทยักษ์ใหญ่ผู้ผลิต replicant จาก Tyrell Corp. ที่เคยรุ่งเรืองก็ถูก Wallace Corp. เข้าซื้อกิจการ
อีกหนึ่งความแตกต่างที่ชัดเจนคือด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะที่โลกของ Blade Runner นั้นเต็มไปด้วยเมืองแออัด ถนนที่แน่นไปด้วยรถยนต์ ท้องฟ้ามียานบินวุ่นวาย Blade Runner 2049 กลับเปิดเรื่องด้วยเรือนกระจก ต้นไม้ และอาหารที่ทำจากแมลง พระเอกขับยานผ่านแผงโซลาร์เซลล์นับพัน ชายทะเลก็มีกำแพงก่อขึ้นมากันน้ำท่วม ทั้งหมดนี้ไม่ต้องตีความก็รู้ว่าเป็นคำวิจารณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ — เรื่องที่ผู้คนในปี 1982 ไม่ค่อยพูดถึงกันอย่างเป็นวงกว้างเท่าไหร่
มันก็เลยโยงกลับมาที่การกำกับภาพ ว่าความแตกต่างของโทนสีระหว่าง Blade Runner กับ BR2049 มันก็สอดคล้องกับโทนของหนังที่เปลี่ยนจาก cyberpunk หนัก ๆ มาเป็นภาพที่สื่อถึงความล่มสลายของอารยธรรม (ความเป็นเมืองแออัดแนว cyberpunk ใน BR2049 ก็ยังมีให้เห็นเยอะมากนะ แต่ฉากธรรมชาติ ทะเลทราย พวกนี้ก็เยอะเหมือนกัน) ซึ่งจะว่าไปการเปลี่ยนแปลงของโทนหนังก็ถูกสะท้อนให้เห็นในเรื่องโดยการเปลี่ยนอำนาจจาก Tyrell ไปเป็น Wallace ด้วย
ส่วนเรื่องการสร้างโลก หรือ world-building โดยส่วนตัวแล้ว ถ้าเราเอาโลกของหนังไซไฟเรื่องต่าง ๆ มาเรียงเป็นเส้น มีโลกที่สะอาด เพอร์เฟ็กต์อย่าง Star Trek หรือ Her อยู่ฝั่งนึง กับโลกที่สกปรก หม่นหมอง ทรุดโทรมจนไม่เหลือซากความเป็นอารยธรรมแบบ Mad Max อยู่อีกฝั่ง เราว่า Blade Runner ภาคแรกมีบาลานซ์ที่ดีมาก เป็นโลกที่ไม่ไฮเทคจนเกลี้ยงเกลา แต่ก็ไม่ดิสโทเปียจนไร้ความหวัง ส่วน BR2049 เลื่อนไปทางฝั่ง Mad Max นิดนึง คือโลกโทรมลง พังลง เอาจริงเราชอบโลกทั้งสองเรื่อง บาลานซ์ออกมาดีและสร้างได้ละเอียดมาก แต่ถ้าให้เลือก เราชอบโลกแบบภาคแรกมากกว่า
ทั้ง Blade Runner และ Blade Runner 2049 คือหนังที่ประสบความสำเร็จในการสร้างโลก cyberpunk ทั้งในแง่การออกแบบตึกรามบ้านช่อง (เกร็ดเล็กน้อย: ทั้ง Blade Runner และ BR2049 ใช้แบบจำลองในการถ่ายทำฉาก) ทั้งการสรรค์สร้างเทคโนโลยีต่าง ๆ ผ่านเรื่องราวชวนคิด ไปจนถึงซาวด์แทร็กที่ติดหูมาตั้งแต่ภาคแรก ภาคนี้ก็ทำได้ดี
และความแตกต่างของภาพในหนังทั้งสองเรื่องก็เป็นกระจกสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในโลกของหนังเอง เราว่ามันคล้องจองกันแบบโรแมนติกดี