เราดูเรื่องนี้เพราะคำแนะนำสั้น ๆ ว่า “If you like AI, this will blow your mind.”

Well, my mind was, like, half blown.

พล็อตของหนังทั้งเรื่องตั้งอยู่บนการทดสอบหุ่นยนต์ตัว/คนหนึ่่งว่ามีจิตสำนึกหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยการทดสอบของทิวริง (Turing’s Test) หรือวิธีอื่น แต่เอาเข้าจริงแทบจะไม่มีการทดสอบเกิดขึ้นเลย คำถามที่พอจะอ้างว่าเป็น Turing’s Test ได้ก็มีแค่วันสองวันแรกเท่านั้น ยังไม่นับว่าหุ่นยนต์ (Ava) ถูกสร้างมาเป็นพิเศษ (พิเศษยังไงขอไม่สปอยล์) ยิ่งทำให้การทดสอบนั้นไม่มีประโยชน์ ถ้าคนที่มาทดสอบเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ Caleb ผลจะออกมาเหมือนกันไหม เราเดาว่าไม่

อีกประเด็นนึงที่หนังยกขึ้นมาคือ หุ่นยนต์อย่าง Ava สามารถมีจิตสำนึกจริง ๆ ได้หรือไม่ หรือทุกการโต้ตอบจะเป็นแค่การจำลองจิตสำนึก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ Turing’s Test ทดสอบไม่ได้ และเราก็ค่อนข้างแปลกใจที่หนังไม่ยกเอา Chinese Room argument มาอธิบาย แต่สุดท้ายแล้วหนังก็ไม่ได้ตอบหรือมีบทสรุปอะไรต่อเรื่องนี้ เราอาจจะถกได้ว่าการแยกแยะระหว่างจิตสำนึกจริงกับการจำลองจิตสำนึกนั้นขึ้นอยู่กับว่ามีคนมาคอยสังเกตหรือไม่ ถ้าไม่มีใครมาคอยสังเกตหรือโต้ตอบแต่หุ่นยนต์นั้นก็ยังประพฤติอย่างมีจิตสำนึก เราก็อาจจะบอกได้ว่าจิตสำนึกนั้นไม่ใช่การจำลอง เพราะไม่มีการป้อนข้อมูล ถ้าคิดอย่างงั้นเราก็บอกได้ว่า Ava นั้นมีจิตสำนึกจริง

ตอนดูอยู่เราไม่ชอบตอนจบเท่าไหร่ คิดว่ามันควรจะจบก่อนหน้านั้นซัก 3 นาทีกำลังดี เพราะมันยืดเยื้อไปมาก แต่พอมาอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับที่บอกว่า Ex Machina นั้นเป็นเรื่องของ Ava ไม่ใช่ของ Caleb และที่ตอนจบยืดเยื้อเพราะว่าต้องการให้คนดูเข้าใจว่า Ava ไม่ได้มีจุดประสงค์ที่จะทำร้ายมนุษย์ ก็พอเข้าใจได้บ้าง แต่เราเชื่อว่าควรนำเสนอได้ดีกว่านั้น

สรุปคือเราชอบประเด็นต่าง ๆ ที่หนังหยิบมาเล่น ไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่เพราะการนำเสนอให้เข้าใจง่ายผ่านรายละเอียดในหลาย ๆ ฉาก