Finding Dory
(2016)
เวลาเราอ่านสิ่งที่คนพูดถึง Pixar เราจะเจอความเห็นสองแบบ คือหนึ่ง พิกซาร์ในบทของนักเล่านิทาน ในมุมนี้พิกซาร์เล่าเรื่องที่ต้องการจะเล่า มีตัวละครสดใสในโลกเหนือจินตนาการ สองคือมุมมองที่ cynical หน่อย คือพิกซาร์ในชุดสูท พิกซาร์เวอร์ชั่นนี้คือนักธุรกิจที่ต้องการจะรีดกำไรจากเด็กตัวน้อย ๆ ทั้งตั๋วหนัง ดีวีดี บลูเรย์ ตุ๊กตา ซีดีเพลง สมุดหนังสือเกมและของอีกสารพัดอย่างในแฟรนไชส์นับสิบ ยิ่งพอพิกซาร์มาอยู่ใต้ร่มดิสนี่ย์ด้วยแล้ว ภาพของเจ้าหนูมิกกี้ผู้ชั่วร้ายก็ยิ่งปรากฏเด่นชัด
เราเห็นคนเถียงกันบ่อย ๆ ว่า หนังแต่ละเรื่องที่พิกซาร์ปล่อยออกมานั้น เรื่องไหนถูกเขียนโดยพิกซาร์นักเล่าเรื่อง เรื่องไหนถูกสร้างโดยพิกซาร์นักธุรกิจ
Finding Dory ดูจะมีบทสนทนาแนวนี้มากเป็นพิเศษ
อาจเพราะเรื่องนี้เป็นหนังภาคต่อ หรือเพราะเป็นหนังภาคต่อที่ใช้กิมมิคเดิม ๆ การเดินเรื่องเดิม ๆ แต่ความซ้ำซากนี้กลับกลายมาเป็นหนังที่กระทบกระเทือนอารมณ์ของคนดูไม่ใช่น้อย
ตั้งแต่เรารู้ว่าพิกซาร์จะเอาดอรี่มาเป็นตัวละครหลัก เราก็แคลงใจว่าตัวละครขี้หลงขี้ลืมแบบนี้จะเดินเรื่องยังไงได้ ยังไงซะอาการความจำเสื่อมของดอรี่ก็ต้องเพลาลง หรือหยุดชั่วคราวในจุดสำคัญของเรื่อง คืออีปลานี่มันต้องหยุดขี้ลืมมั่งแหละ ไม่งั้นเรื่องเดินไม่ได้
ซึ่งก็ถูกเผง บางทีก็เหมือนกับว่าดอรี่ไม่ได้มีอาการ short term memory loss โดยเฉพาะในจุดที่พล็อตต้องการอย่างนั้น แต่เอาจริงเราก็โทษพิกซาร์ไม่ได้ซะทีเดียว อย่างที่ว่า ไม่งั้นมันจะเดินเรื่องไม่ได้
ในทางกลับกัน พิกซาร์ก็หยิบเอาความขี้หลงขี้ลืมของดอรี่มามัดเป็นปม แล้วคลายปมนั้นออกมาได้ดีมาก ฉากเปลือกหอยอะ แง
ที่ชอบอีกอย่างคือตัวละครใหม่ ทั้ง Hank, Destiny, Bailey แมวน้ำสามตัวนั่น แต่ละตัวละครมีปมเป็นของตัวเอง เราว่าการนำเสนอดีและไม่รู้สึก “จับยัด” ให้ politically correct น่ะ
ตอนจบเว่อจนน่ารำคาญไปหน่อย แต่ก็นะ หนังเด็ก
สุดท้าย Finding Dory จะถูกสร้างมาโดยพิกซาร์ไหน เราว่าพิกซาร์ทั้งสองแบบก็คือพิกซาร์เดียวกัน หนังเรื่องนี้ก็ a bit of both นั่นแหละ