เนื้อหาต่อไปนี้มีสปอยเลอร์ครับ

หนังเรื่องนี้คือความจงเกลียดจงชังของ Woody Allen ต่อ “สมัยนี้” และการโหยหาอดีต โหยหาวันวานอันแสนหวาน คือการ romanticise เมืองที่ถูก romanticise มากที่สุดในโลก

เราขอแนะนำตอนนี้เลยว่า ถ้าใครยังไม่ได้ดูก็ไปดูซะ เพราะมันคือหนังที่เพ้อเจ้อและปฏิเสธความจริงของชีวิต และต่อจากนี้จะมีสปอยล์เลอร์สปอยล์เลอร์สปอยล์เลอร์

ถ้าปารีสใน Amélie กับ Before Sunset คือปารีสในสายตาของคนท้องถิ่น ปารีสใน Midnight in Paris ก็คือปารีสในสายตาของนักท่องเที่ยว คือปารีสที่มีหอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (สะกดงี้จริง ๆ นะ…) ราชวังแวร์ซาย (ทำไมไม่ทับศัพท์ว่า แวร์ซายลส์ งง) และ อาร์กเดอทรียงฟ์ (เอ่อ…)

แต่ถามว่ามันผิดที่ผิดทางไหม ก็ไม่นะ เพราะนี่คือปารีสในสายตาของพระเอกผู้หลงไหลในความโรแมนติกของปารีส

อย่างน้อยก็ความโรแมนติกของปารีสในจินตนาการของเขาเอง

เราชอบการย้อนเวลาในหนังเรื่องนี้ มันกึ่งความฝัน กึ่งความจริง (ในโลกของหนัง) บางทีเราก็จะคิดไปว่านี่คือจินตนาการของพระเอก แต่หนังก็ตอบว่า ไม่เลย ดูอย่างฉากที่นักสืบย้อนเวลาไปโผล่ในแวร์ซายในอดีต

ส่วนสิ่งที่เราไม่ชอบคือการที่ (ในความรู้สึกเรานะ) คนเขียนบทยัดเยียดให้นางเอก (Inez เล่นโดย Rachel McAdams) นอกใจพระเอกเพื่อให้การที่พระเอกนอกใจนางเอกดูยุติธรรม ซึ่งมันไม่ใช่ นอกใจก็คือนอกใจ ผิดก็คือผิด และในกรณีนี้การกระทำของทั้งพระเอกและนางเอกก็แย่ด้วยกันทั้งคู่ มันไม่หักล้างกัน

จุดพีคของหนังอยู่ในฉากที่พระเอกกับ Adriana ย้อนเวลาจาก 1920 ไปยังปี 1890 และได้เห็นว่าเอเดรียอาน่าก็คิดว่าปี 1920 มันช่างวุ่นวายและซับซ้อน ปี 1890 ต่างหากคือยุคทอง

ตามด้วยการบรรลุว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงเวลาไหน เราก็อยากจะย้อนกลับไปยัง “ยุคทอง” ที่เรียบง่ายและโรแมนติกกันเรื่อยไป หากเราย้อนเวลาไปที่ปี 1890 ในไม่ช้าปี 1890 ก็จะกลายเป็นปัจจุบันของเรา

และเราเบื่อหน่ายปัจจุบันเพราะ “It’s a little unsatisfying, because life is a little unsatisfying.”