ดูไปก็ขมวดคิ้วไป

ไม่ใช่เพราะงง แต่เพราะเครียด เพราะเนื้อหาหนักมาก

Short Term 12 ว่าด้วยเรื่องของเจ้าหน้าที่สถานบำบัดเด็กและวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงด้านจิตเวช

เราสังเกตว่าหนังไม่ได้สนใจจะพูดถึงเด็กแต่ละคนว่าโดนอะไรมาบ้างถึงถูกส่งเข้ามาในสถานบำบัด แต่เน้นไปที่ผลกระทบกับตัวเด็ก และพฤติกรรมที่เด็กเหล่านั้นแสดงออกมา ช่วงแรกสุดของหนังเราเห็นเด็กคนหนึ่งพยายามวิ่งหนีออกจากสถานบำบัดพร้อมกรีดร้องโวยวาย เด็กบางคนก็เก็บตัวเงียบ บางคนมีพฤติกรรมรุนแรง แต่หลายครั้งเราไม่รู้ว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดพฤติกรรมเหล่านั้น ซึ่งส่วนนี้เราว่าหนังจงใจ

ความจงใจอีกอย่างคือการที่หนังบอกเรา ผ่านคำพูดหรือท่าทางการกระทำของตัวละคร ว่าตัวละครนั้น ๆ มีมิติลึกกว่าที่เห็นมาก แต่หนังยังไม่บอกว่าความลึกของตัวละครนั้นคืออะไร แล้วค่อย ๆ ปล่อยความหลังออกมาทีละน้อย ๆ ทำให้ในแต่ละฉากเรารู้จักตัวละครเหล่านั้นมากขึ้น

อย่างเช่นความแตกต่างระหว่าง Grace (เล่นโดย Brie Larson) กับ Nate (เล่นโดย Rami Malek) ที่แสดงให้เห็นตั้งแต่ต้นว่า Nate เป็นเด็ก “สมบูรณ์” คือมาจากครอบครัวที่ดี จบมหาวิทยาลัยแล้วอยากมีประสบการณ์ทำงานกับ “เด็กด้อยโอกาส” (ในหนัง Nate ใช้คำว่า underprivileged) การแสดงออกก็จะเก้ ๆ กัง ๆ ส่วน Grace จะมีประสบการณ์มากกว่า เข้าใจเด็กมากกว่า คุยเล่นกันได้

ความแตกต่างนี้ตอนแรกก็ให้เหตุผลได้ว่า Nate นั้นเพิ่งเริ่มงาน อาจจะยังไม่คุ้นชินกับการโต้ตอบกับเด็ก แต่พอดูไปเรื่อย ๆ หนังก็ค่อย ๆ เปิดเผยว่า ความแตกต่างระหว่าง Grace กับ Nate นั้นมีมากกว่านั้นมาก แล้วตัวละครของทั้งคู่ (แต่โดยเฉพาะ Grace) ก็ซับซ้อนมาก ๆ

ซึ่งก็ต้องชมว่า Brie Larson นั้นแสดงความซับซ้อนนั้นออกมาได้ดี จนหายสงสัยเลยว่าทำไมเจ๊แกได้รับบทนำใน Room

ความกดดันของหนัง บางส่วนก็มาจากภาพ ที่พออารมณ์ของหนังเริ่มเครียดขึ้น ภาพโคลสอัพก็มีให้เห็นมากขึ้นและใกล้ขึ้น ใกล้จนอึดอัด จนหลายครั้งมองไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากแววตาของตัวละคร ทำให้ฉากแบบนี้มีพลัง มีความเข้มข้น

แล้วก็ตัดไปที่ฉากเต็มตัวให้พักหายใจ

เป็นหนังอีกเรื่องนึงที่ดูแล้วชอบ แต่คงไม่ดูอีกแล้ว เหนื่อย