หนังแนว coming of age ที่เล่าถึงตัวเอกที่มีอุปนิสัยผิดแผกไปจากสิ่งที่สังคม (วัยรุ่น) ทั่วไปยอมรับ แล้วไปประสบพบเจอเหตุการณ์หรืออุปสรรคบางอย่างที่ทำให้ตัวตนของเขาหรือเธอเปลี่ยนแปลงไปจากตอนต้นเรื่อง มักจะจบได้สองทาง คือหนึ่ง ตัวเอกกลายเป็นคนที่ดีขึ้น ถ้ามีจุดบกพร่อง จุดบกพร่องนั้นก็อาจจะถูกแก้ไป เช่น ถ้าเป็นตัวละครที่ชอบรังแกคนอื่น ตอนจบเรื่องก็อาจจะสำนึกผิด รู้จักเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น

อีกทางหนึ่งคือตอนจบที่ “ไม่สวย” คือจบเรื่องแล้วตัวเอกกลับมาอยู่ที่เดิม (ในเชิงพัฒนาการของตัวละคร) หรือยิ่งไปกว่านั้นคือแย่ลงกว่าเดิม เช่นถ้าต้นเรื่องตัวเอกเป็นคนขี้อาย เข้าสังคมไม่เป็น หนังอาจจะจบด้วยการที่ตัวเอกอยู่เหงา ๆ คนเดียวเหมือนเดิม

และเราก็คิดมาตลอดว่า ตอนจบแบบ “ไม่สวย” นั้น มีเมตตาต่อคนดูมากกว่าแฮปปี้เอนดิ้งหลายเท่านัก

เพราะมันสื่อถึงความเป็นคนได้ดีกว่า เนื้อเรื่องในหนังอาจจะกินเวลาสองสามเดือน เหตุการณ์ในหนังอาจจะมีผลกระทบต่อตัวละครจนทำให้เขาหรือเธอได้มีมุมมองต่อชีวิต ต่อตัวเองและคนอื่นที่เปลี่ยนไป แต่สำหรับคนดูแล้ว ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งถึงสองชั่วโมงของการดูหนังเรื่องนึงมันไม่พอสำหรับความเปลี่ยนแปลงขนาดนั้น

ถ้าคนดู relate กับตัวละครตอนต้นเรื่อง แล้วปลายเรื่องตัวละครนั้น ๆ เกิดบรรลุสัจธรรมอะไรบางอย่างขึ้นมา แล้วเปลี่ยนไปเป็นคนที่ “ดีขึ้น” ก็เท่ากับว่าหนังได้ทรยศความ relatability ในตอนแรกไปรึเปล่า ?

ถ้าเราดูหนังแล้วฉากสุดท้ายเป็นภาพของตัวเอกที่มีความสุข พอเครดิตขึ้นแล้วเรามองเห็นตัวเองผ่านเงาสะท้อนของจอ พบว่าตัวเราเองยังอยู่ที่เดิม ชีวิตของเราก็เหมือนเดิม มันเหมือนโดนทอดทิ้งไหม

เราเลยชอบตอนจบแบบ bad ending เพราะมันปลอบใจเราว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว

แต่ The Art of Getting By จะจบยังไงนั้นไปดูกันเอาเอง พูดถึงตอนเริ่มเรื่องดีกว่า

หนังเล่าถึง George (เล่นโดย Freddie Highmore) เด็กมอปลายผู้มีแนวคิดสุญนิยม (nihilism — แนวคิดที่ว่าทุกอย่างไร้ความหมาย สิ่งที่อยู่ระหว่างการเกิดและความตายคือมายาคติ… ประมาณนั้น) เมื่อไปเจอกับ Sally (เล่นโดย Emma Roberts) ก็ได้อาจจะหรืออาจจะไม่ทำให้เขาได้รู้ถึงความหมายและความสวยงามของชีวิต

แต่นั่นก็ — เหมือนวัยรุ่นทั่วไป — คือตัวตนที่ George ต้องการนำเสนอต่อชาวโลก

จุดที่เด่นที่สุดของหนังเรื่องนี้สำหรับเราคือ characterisation ของ George ออกแบบมาได้ดีมาก เข้าใจและเข้าถึงมาก เป็นตัวละครที่เราจะไม่สงสัยเลยถ้าบอกว่ามีคนแบบนี้อยู่จริงในโลก และคำพูดพวกนี้ การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ทุกอย่างมันสมจริงมาก อาจจะเป็นแค่เราก็ได้ แต่เราเห็นตัวเราเองใน George ทั้งความ (พยายามจะ) edgy ไม่แคร์ใคร ไปจนถึงการนั่งวาดรูปในห้องเรียน ไปจนถึงทัศนคติคิดมากที่ก็ เหมือนเดิม เป็นด้านที่หันสู่ชาวโลก

ส่วนลักษณะตัวตนที่แท้จริงก็เห็นได้แว้บ ๆ อย่างการที่ George จะเข้าไป “เกาะ” กับคนที่ตัวเขาเองคิดว่าคูล เช่น Sally หรือ Dustin ที่เป็นเหมือนบุคคลต้นแบบในสายตาเขา เป็นคนที่เขาอยากจะเป็น ถึงแม้ว่าตัว George เองจะบอกกับ Sally ว่าเขาเป็น misanthrope (คนที่ไม่ชอบมนุษย์มนา) ก็ตาม

เป็นหนังที่ปั้นตัวละครได้เก่งมาก และน่าเอามาทำ character analysis อย่างยิ่งยวด

แถมยังภาพสวยอีก

หลาย ๆ ฉากถูกคั่นด้วยช็อตของถนนเมืองนิวยอร์ก ที่สร้างบรรยากาศให้กับหนังทั้งเรื่อง แถมหนังชอบเอาตัวละครมาไว้ตรงริมเฟรม แล้วปล่อยที่เหลือว่าง ๆ บางทีเวลาเราถ่ายรูปเราก็ชอบเว้นที่ไว้แบบนี้เหมือนกัน ชอบ สวยดี

หนังแทบทั้งเรื่องถูกถ่ายในช่วงเวลาโพล้เพล้ไปจนถึงดึกดื่น มันเลยมีสีฟ้าหม่น ๆ ครอบอยู่ คือแค่สีก็เหงาแล้วอะ

เรายกให้หนังเรื่องนี้อยู่ระดับเดียวกับ The Perks of Being a Wallflower เลย คือระดับสูงสุด อยากดูอีกหลาย ๆ รอบ