Waking Life
(2001)
เรา… เราสร่างเกินกว่าจะดูหนังเรื่องนี้รู้เรื่อง
ถ้าใครเคยอ่านหนังสือชื่อ “ปลาที่ว่ายในสนามฟุตบอล” ของวินทร์ เลียววาริณ (เราชอบมาก แต่ไม่ได้อ่านมาหลายปีแล้วเพราะเคยอ่านบ่อยจนเล่มขาดยับเยินหมด) Waking Life ก็จะเหมือนหนังสือเล่มนั้นเอามาทำเป็นหนัง บวกความเซอร์เรียลเข้าไปสามกระปุกเน้น ๆ
คือเป็นหนังที่เซอร์เรียลที่สุดเท่าที่เราเคยดู ไม่เคยดูอะไรที่อาร์ตเท่านี้มาก่อน
เราเตรียมรับมือกับความอาร์ตไว้แล้วเพราะ Richard Linklater เป็นคนกำกับ คิดว่าน่าจะเพ้อเจ้อ ๆ เรื่อยเปื่อยแบบ Before Trilogy (Linklater กำกับเหมือนกัน) แต่ อื้อหือ คิดผิด
Waking Life มีสิ่งที่คล้าย ๆ Before Trilogy อยู่บ้าง เช่นการที่ทั้งเรื่องแทบไม่มีพล็อตเลย เป็นแค่บทสนทนาของตัวละครต่าง ๆ โดยที่บทสนทนาเหล่านั้นก็พูดถึงเรื่องสากกะเบือยันเรือรบ
มีคนอธิบายว่าหนังเรื่องนี้เป็นเหมือนปืนกลที่กราดคอนเซ็ปต์ทางปรัชญาใส่คนดู
ก็จริง เพราะแต่ละเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดถึงก็น่าสนใจทั้งนั้น แต่ก็พูดถึงแค่ข้าม ๆ แล้วก็ไปพูดเรื่องอื่นต่อ อย่างมีฉากนึงที่พูดถึงกรอบของภาษา ว่าภาษาจะสื่อถึงความรู้สึกได้อย่างไร ในเมื่อภาษาถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความอยู่รอด เช่นสมัยโบราณเราต้องใช้ภาษาในการเตือนคนอื่นว่ามีสัตว์อันตรายกำลังย่างกรายเข้ามา แต่พอเราวิวัฒนาการมาจนถึงปัจจุบัน เราก็เอาภาษาแบบเดียวกันนี้มาสื่อถึงสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างความรู้สึก ความดีใจ เสียใจ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาเราพูดถึงความสุข คนอื่นจะเข้าใจแบบเดียวกับเรา
คือมันเป็นสิ่งที่หลายคนคงเคยคิดผ่านสมองกันมาบ้างแหละ ไม่มากก็น้อย
บางเรื่องที่พูดถึงก็เป็นวิทยาศาสตร์เชิงอภิปรัชญา อย่างเจตจำนงอิสระ ว่าด้วยการที่จักรวาลถูกกำหนดไว้แล้วผ่านกลไกที่เดินไปตามแรงกระทบของอะตอม ถ้าเรารู้ว่าอะตอมก้อนนี้จะสั่นไปทางไหน เราก็สามารถทำนายได้ว่า ในอีกห้านาทีจะเกิดอะไรขึ้น หรืออีกห้าปี ห้าร้อยปีจะเกิดอะไรขึ้น แล้วตั้งคำถามว่านั่นหมายความว่ามนุษย์เราไม่มีเจตจำนงอิสระใช่หรือไม่ เราไม่สามารถเลือกที่จะทำอะไรได้เลยรึเปล่า เพราะทุกความคิด ทุกการตัดสินใจมันก็เป็นแค่แรงกระทบ แล้วหนังก็เลยไปพูดถึงควอนตัม ถึงความไม่แน่นอนในตำแหน่งและความเร็วของอนุภาค
สำหรับเราที่ชอบเรื่องอะไรพวกนี้อยู่แล้วก็ไม่ใช่อะไรแปลกใหม่ เคยอ่านมาแล้ว เคยคิดมาแล้ว แต่ก็อาจจะจุดประกายให้คนที่ไม่สนใจหันมาลองอ่านดู
ขอเล่าอีกเรื่องนึง ๆ
อันนี้เป็นบทสนทนาที่ต่อจาก Before Sunrise คือเรื่องการกลับชาติมาเกิด พูดถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรในโลกว่า ถ้าแต่ก่อนมีคนบนโลกน้อยกว่านี้ แล้วทุกคนตายแล้วไปเกิดใหม่หมด แล้วทำไมถึงมีคนเพิ่มขึ้นได้ “วิญญาณ” ใหม่ ๆ มาจากไหน หรือจำนวนของวิญญาณมีเท่าเดิม แต่คนสมัยนี้มีวิญญาณแค่ครึ่งเดียวของคนเมื่อสี่สิบปีก่อน เพราะประชากรตอนนี้เทียบกับปี 1970 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ส่วนอีกคนก็ตีความว่าการกลับชาติมาเกิดนั้นเป็นแค่คำเปรียบเปรยที่หมายถึงความรู้ที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น เมื่อเราเกิดมาเราก็สามารถเข้าถึงความรู้องค์รวมของมนุษยชาติ
ไรงี้
อย่างที่บอกแหละว่าเรื่องที่หนังพูดถึงแต่ละเรื่องมันอาจจะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ อาจจะไม่ได้เจาะลึก แต่ก็น่าสนใจดี