เนื้อหาต่อไปนี้มีสปอยเลอร์ครับ

“Total disassociation, fully out your mind. Googling ‘derealization’ and hating what you find.”

เวลาย้อนกลับไปดูหนังบางเรื่อง โดยเฉพาะหนังเก่า ๆ ก่อนเราเกิด บ่อยครั้งที่ต้องทำความเข้าใจกับบริบท สภาวะทางสังคมในยุคที่หนังฉายด้วย เพราะหนังที่ถูกจัดให้เป็นคลาสสิกหลายเรื่องจะสะท้อนจิตสำนึกร่วม (collective consciousness) หรือความรู้สึกของสังคมโดยรวมที่มีต่อเหตุการณ์สำคัญ ๆ ในสมัยนั้น ๆ — เพราะฉะนั้นถึงแม้ Dr. Strangelove จะเป็นหนังที่ดีในสุญญากาศ แต่พอเข้าใจบริบทว่าหนังถูกสร้างขึ้นท่ามกลางความหวาดกลัวในช่วงสงครามเย็น มุกตลกต่าง ๆ ก็พลันมีมิติขึ้นมา

นอกจากนั้น ถ้าหนังในยุคทองของฮอลลีวูดสะท้อนความฟื้นฟูของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุคหลัง Great Depression และถ้าหนังอย่าง Chungking Express สะท้อนความวิตกกังวลของสังคมฮ่องกงต่อการส่งมอบดินแดนให้กับจีนในช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1990s แล้วสำนึกร่วมต่อเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรที่เกิดขึ้นและทับถมกันในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้จะถูกสะท้อนผ่านสื่อแบบไหน

น่าจะเป็นแบบ Inside (Bo Burnham) ที่เราโควทเนื้อเพลงไว้ข้างต้น หรือไม่ก็แบบ Everything Everywhere All At Once

หนังเรื่องนี้เป็นไซไฟตรงฉลาก ทำตามจุดประสงค์ของไซไฟ คือการใช้ไอเดียใหญ่โตมาตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ และคำถามใน Everything Everywhere All At Once นั้นว่าด้วย existential nihilism

ความขัดแย้งหลักของหนังเกิดจากการปะทะกันระหว่างความหวัง (ผ่านมุมมองของ Evelyn) และความเฉยชาต่อโลก (ผ่านมุมมองของ Joy — ironic เนอะ) ท่ามกลาง nihilism ที่ล้นหลาม จากวังวนซ้ำซากของชีวิตประจำวัน โดยหนังแสดงความจำเจนี้ผ่านสัญลักษณ์ “วงกลม” เช่นเครื่องซักผ้าที่หมุนอยู่กับที่ กระจกทรงกลม รอยปากกาบนใบกำกับภาษี

และเบเกิล

ฉากที่ Evelyn และ Joy “เกิด” เป็นหินสองก้อนน่าจะเป็นหนึ่งในฉากที่ absurd ที่สุดในหนัง แต่ก็เป็นฉากที่มีความหมายที่สุดด้วยเช่นกัน ถ้าจะบอกเล่าว่าชีวิตนั้นไร้ความหมายแค่ไหน จะมีอะไรชัดเจนไปกว่าการแสดงให้เห็นว่าในจักรวาลส่วนใหญ่ ชีวิตไม่เคยเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ

มากไปกว่านั้น ฉากหินสองก้อนไม่ใช่แค่เป็นมุก absurd แต่แสดงถึง Absurdism อีกด้วย โลกที่ไม่มีอะไรนอกจากดิน หิน และเสียงคลื่นแผ่ว ๆ ก็คือโลกที่ไร้ความหมายในการดำรงอยู่ หินที่กลิ้งลงเหวก็อาจจะหมายถึงหินของ Sisyphus ที่เป็นตัวแทนของ Absurdity ก็ได้

แต่พอมองดู Sisyphus ดันก้อนหินขึ้นเขาชั่วกัปชั่วกัลป์ เจ้าพ่อ Absurdism อย่าง Albert Camus ก็บอกไว้ว่า “One must imagine Sisyphus happy.” ถ้า Sisyphus ยังคงดันหินอยู่ ถ้า Sisyphus ยังไม่จำนนต่อความ Absurd ของชีวิต เราก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะมองว่า Sisyphus นั้นมีความสุข บทสรุปของ Everything Everywhere All At Once ก็เหมือนกัน ในขณะที่ Joy ยอมรับและยอมแพ้ต่อเบเกิลแห่งสรรพสิ่ง Evelyn เลือกที่จะลุกขึ้นสู้ และเลือกที่จะหาความหมายภายในความไร้ความหมายนั้น

ชีวิตมันไร้ความหมาย จะอยู่ไปทำไม แต่ถ้าจะให้ดีคือ ชีวิตมันไร้ความหมาย อยู่ไปก็ไม่เห็นเป็นไรนี่