“Gilda, are you decent?”

การได้ดู The Lady from Shanghai กับ Gilda ติดต่อกันทำให้เราเข้าใจเลยว่า Rita Hayworth นั้นเกิดมาเพื่อรับบท femme fatale จริง ๆ — เธอโปรยเสน่ห์และสารพันมารยาให้ Gilda เป็นตัวละครที่ตรึงตาตรึงใจที่สุด ความกราดเกรี้ยวจนลุกร้อนเป็นไฟกลับกลายเป็นความอ่อนไหวในวินาทีต่อมา ความรักใต้ความเกลียดชังที่อยู่ใต้ความรักใต้ความเกลียดชังอีกที Rita Hayworth สามารถถ่ายทอดความซับซ้อนเหล่านั้นออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง

ไหนจะ musical number ทั้งสองฉากที่ดูจะผิดไปจากสูตรสำเร็จของ film noir ไปบ้าง ทั้งสองเพลง Amado Mio และ Put the Blame on Mame นั้น ถึง Rita จะไม่ใช่เสียงร้องที่เราได้ยิน (เสียงร้องเป็นเสียงสุดคลาสสิกของ Anita Ellis) แต่ท่วงท่าลีลาของเธอในทั้งสองฉากนี้โดดเด่นแพรวพราวเหลือเกิน

เจอคนอธิบายว่า “She has the most iconic hair flips in history.” คือใช่เลย

ทั้งหมดที่อวยมา ต้องการสื่อว่าหนังเรื่องนี้โชคดีมากที่ได้ Rita มาประคอง เพราะตัวละครชายทั้งสองคนค่อนข้างไร้มิติ เป็น stereotype มากเกินไป พระเอก Johnny (เล่นโดย Glenn Ford) พอจะมีการเติบโตอยู่บ้าง จากที่เริ่มเรื่องเป็นนักต้มตุ๋น กลายมาเป็นเจ้าของคาสิโน เส้นทางชีวิตคล้าย ๆ พระเอกจาก Nightmare Alley เวอร์ชั่น 1947 ที่เราดูไปเมื่อเดือนก่อน แต่ไม่ได้เขียนถึง

อีกอย่างที่คล้ายกับ Nightmare Alley (1947) คือตอนจบ ที่ยัดเยียด happy ending แบบไม่สมเหตุสมผล (Nightmare Alley เวอร์ชั่น 2021 ตอนจบทำได้ดีกว่า) ในขณะที่ธีมหลักของ film noir คือการที่คนเลว ๆ ย่อมต้องเจอจุดจบที่สาสม Gilda กลับวาดภาพความสัมพันธ์อัน toxic ให้ลงเอยแบบมีความสุขตลอดไป