Spider-Man: Far From Home
(2019)
Spider-Man: Far From Home คือหนังที่สามารถปิดฉาก phase 3 ได้อย่างสวยงาม และในขณะเดียวกันก็ทำให้เราตื่นเต้นไปกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน phase 4 ทั้งในแฟรนไชส์ของสไปเดอร์แมนเอง และ MCU โดยรวม
On pacing, parallels, and personal conflict
องก์แรกของหนังค่อนข้างเฉื่อย เพราะตั้งแต่ Homecoming นั้นตัวละครต่าง ๆ เปลี่ยนไปเยอะพอสมควร หนังต้องมาเกริ่นว่าปีเตอร์ชอบเอ็มเจแล้วนะ (จะว่าไป ทั้งเรื่องไม่มีใครเรียกเอ็มเจว่ามิเชลอีกเลย สรุปคือชื่อมิเชลเป็นแค่ชื่อชั่วคราวในภาคแรก กับเป็นข้อแก้ตัว เวลาคนบ่นว่าเอ็มเจในคอมิกไม่เป็นแบบนี้นี่ จะได้บอกได้ว่า อ๋อ นี่ไม่ใช่แมรี่เจนนะ คนละคนกัน) ต้องเกริ่นเรื่อง The Blip ด้วย ต้องเตือนคนดูด้วยว่าป้าเมย์รู้แล้วนะว่าปีเตอร์คือสไปเดอร์แมน แถมต้องปูเรื่องว่าไปทัศนศึกษาที่ยุโรปอีก
หนังใช้เวลาสตาร์ทนาน แต่พอเครื่องร้อนแล้วแล่นเลย ตั้งแต่ฉากที่มิสเตริโอโผล่มาที่เวนิสจนเครดิตขึ้นนี่แทบไม่ได้พักหายใจ
พูดถึงมิสเตริโอ คนที่อ่านคอมิกมาบ้างก็คงจะรู้ว่ากิมมิกของมิสเตริโอนั้นเป็นยังไง (รวมถึงเราด้วย ถึงจะไม่ค่อยได้อ่านคอมิกของสไปเดอร์แมนแต่ก็รู้จักมิสเตริโอแบบผ่าน ๆ) ก็คือรู้อยู่แล้วแหละว่าพวกยักษ์สี่ธาตุนั้นมันเป็นแค่ภาพลวงตา แต่หนังก็เอาคอนเซ็ปต์ของมิสเตริโอไปต่อยอด และหลอมรวมกับเนื้อเรื่องของ MCU ได้อย่างไร้ที่ติ
การที่เควนตินเป็นอดีตลูกจ้างของโทนี่นั้นเมกเซนส์มาก ทั้งด้านเทคโนโลยี ที่ปูเรื่องว่าเควนตินเป็นคนคิดค้นระบบโฮโลแกรม B.A.R.F. จาก Civil War
แต่ที่เมกเซนส์กว่านั้นคือในแง่ narrative ของหนังที่จะวกวนอยู่กับ legacy ของโทนี่ ทั้งดี (EDITH) และร้าย (ฝูงโดรนจากอวกาศที่ดูคล้ายกับอาวุธใน Winter Soldier พิกล) และ legacy ในแง่ของคนที่โทนี่ปั้นขึ้นมา ทั้งดี (ปีเตอร์) และร้าย (เควนติน) หนังสามารถเอาตัวละครที่แต่เดิมไม่เกี่ยวกับโทนี่มาดัดแปลงให้ parallel กับสไปเดอร์แมนเวอร์ชั่นนี้ได้อย่างลงตัว
แล้วพอมัน parallel กันอย่างงี้ เนื้อเรื่องมันเลยโฟกัสไปที่ความขัดแย้งภายในตัวปีเตอร์ ซึ่งนี่แหละคือจิตวิญญาณของหนังสไปเดอร์แมน ถึงแม้ว่าหนังจะสเกลใหญ่ยังไง ตัวร้ายจะถล่มตึกระเบิดเมืองอะไรยังไง สุดท้ายมันก็คือ personal conflict ของปีเตอร์นั่นแหละ
และ personal conflict ในหนังเรื่องนี้ก็คือการรับมือกับ legacy ที่โทนี่ทิ้งไว้ให้นั่นเอง
On looking back and moving on
Far From Home คือหนังที่รู้หน้าที่
หน้าที่ของ Far From Home คือ หนึ่ง พูดถึงผลกระทบของ Endgame ทั้งในแง่โลจิสติกส์ (เช่น The Blip ในสายตาของคนทั่วไปเป็นยังไง บางคนหายไปห้าปีแล้วแว่บกลับมาเป็นยังไง เป็นต้น) และในแง่ตัวละคร ว่าปีเตอร์จะรับมือกับความตายของโทนี่ยังไง จะฟื้นตัวจากเหตุการณ์ใน Endgame ยังไง จะมี thread ไหนให้ผู้เขียนดึงมาต่อยอดตัวละครรึเปล่า
หน้าที่อย่างที่สองคือหนังเรื่องนี้ต้องเป็นบทสรุปของ phase 3 ที่น่าพอใจ และต้องตอบคำถาม “แล้วไงต่อ” จากมุมมองของคนดู เพราะ ณ เวลาเขียนนี้มาร์เวลยังไม่มีแผนการอะไรชัดเจน มีแค่โปรเจคที่ถูกพูดถึงลอย ๆ อย่าง Eternals, Shang Chi, หรือหนังเดี่ยว Black Widow เป็นต้น
แล้วใน phase 4 นั้น ถึงมาร์เวลจะอ้างอิงเหตุการณ์ในสามเฟสแรกได้ แต่ถ้าจะเอาตัวละครที่ตายไปแล้วมาเป็นแฟนเซอร์วิสก็คงจะเกินไป
และสุดท้าย ถ้ามองเฉพาะแฟรนไชส์ Spider-Man ไม่เกี่ยวกับหนังมาร์เวลเรื่องอื่นนะ เราตื่นเต้นกับฉากตอนจบที่สไปเดอร์แมนกลับมาที่นิวยอร์ก โหนใยไปตามตึก เอ็มเจในอ้อมแขน พร้อมกับเสียงก่นด่าของเจเจเจ (ที่เล่นโดย J. K. Simmons ไม่มีใครเหมาะกว่าเฮียแล้ว) เป็นพื้นหลัง เหมือนกับว่าทั้ง Homecoming และ Far From Home เป็นจุดเริ่มต้นให้กับหนัง Spider-Man แบบคลาสสิก แบบที่มีตระกูลออสบอร์น และ The Daily Bugle และ Sinister Six ซักที รอมาสองเรื่องแล้ว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไม่ได้พยายามจะวิเคราะห์หรือทำนายอนาคตของมาร์เวลอะไรหรอก แค่เดาเล่นเอาสนุกพอ
On side characters
ตัวละครรองในหนังเรื่องนี้ ถึงจะไม่ค่อยออกกล้องมากนัก แต่ก็เฉิดฉายมาก
เน็ดถูกลดความสำคัญลงไปเยอะ จากภาคแรกที่เป็น Man in the Chair เรื่องนี้ส่งไม้ต่อให้เอ็มเจ
ซึ่ง เอ็มเจเนี่ย เราว่าไม่ค่อยเวิร์ค ขอออกตัวไว้ก่อนว่าที่คิดว่าไม่เวิร์ค ไม่ใช่เพราะรูปร่าง หน้าตา หรือสีผมอะไรหรอก แต่ในเชิงพัฒนาการตัวละคร ซึ่งเหมือนกับว่าใน Homecoming ส่งมาแบบนึง แต่ Far From Home อยากให้เป็นอีกแบบนึง
เอ็มเจใน Homecoming เป็นคนประเภทไม่แคร์โลก คำพูดและท่าทางก็จะกวนนิด ๆ และค่อนข้างฉลาด ฉลาดแบบ street smart ทันโลก แต่ Far From Home ต้องการเอ็มเจในฐานะแฟนปีเตอร์ คือเอ็มเจแบบคลาสสิก อ่อนโยน มีเสน่ห์ และสวมบทบาท damsel in distress (ซึ่งในยุคนี้สมัยนี้มันไม่ค่อย empowering เท่าไหร่)
ก็เลยกลายเป็นว่าเอ็มเจ แทนที่จะค่อย ๆ พัฒนาจากต้นเรื่องถึงปลายเรื่อง ดันสลับไปมาระหว่างตัวละครสองแบบนี้ เราเลยคิดว่าเธอดูไม่ค่อยธรรมชาติเท่าไหร่
ตัวละครอื่น ๆ ก็เติมสีสันให้กับหนังได้ดี ทั้งแบรด เบตตี้ แฟลช รวมถึงครูอีกสองคนก็น่าจดจำ
ส่วนฟิวรี่และฮิลล์ อันนี้เราไม่เก็ท
คือตอนดูอยู่เราก็นึกเอะใจแล้วแหละว่าทำไมสองคนนี้ดูไม่ค่อยเป็นตัวของตัวเองเลย ฟิวรี่ก็ขี้โมโหมาก โมโหแบบไม่มีเหตุผล ซึ่งนั่นไม่ใช่คาแรคเตอร์ของเขาเลย (ประโยคที่ว่า “Don’t you dare invoke her name.” ตอนปีเตอร์พูดถึงแครอลก็ไม่น่าใช่ประโยคที่ตัวละครนี้จะพูด) ส่วนฮิลล์ก็ออกจะจืดจาง ถึงบทจะไม่มากแต่ก็ดูรู้อยู่ว่ากริยาท่าทางออกแหม่ง ๆ
พอหนังมาเฉลยตอนจบว่าสองคนนี้เป็นสกรัลล์ปลอมตัวมา แว้บแรกก็ อ๋อ อย่างงี้นี่เอง
แต่แว้บต่อมาก็แบบ อ้าว ทำไมอะ ทำไมบทต้องให้สองคนนี้เป็นสกรัลล์ มันดูซับซ้อนแบบไม่มีเหตุผล ยกเว้นว่าหนังเรื่องต่อไปจะอธิบายว่าช่วงเวลานี้สองคนนี้ไปทำอะไรอยู่ ก็ทำไมไม่ให้ฟิวรี่กับฮิลล์เป็นตัวจริงซะเลย ไม่เข้าใจ
On everything else
- J. Jonah Jameson!! คือไม่มีใครเหมาะกับบทนี้มากไปกว่า J. K. Simmons แล้วจริง ๆ
- เป็นหนัง MCU เรื่องแรกที่ไม่มี Stan Lee
- มาถึงตอนนี้ เราก็ยังคิดว่าชื่อ Far From Home มัน… มันไม่โอเคอะ ฟังดูแปลก ๆ
- ฉากต่อสู้กับมิสเตริโอในตึกร้างเท่มาก เท่ทั้งภาพทั้งเนื้อหาที่มี fake-out ตอนหลัง
- ฉากที่ปีเตอร์สร้างชุดเองแล้วเอามือสอดไปในโฮโลแกรม ท่าเดียวกับโทนี่ แล้วเปิดเพลง Back in Black นี่ โอย ขนลุก
- สรุปแล้วเราชอบ Far From Home มากกว่า Homecoming นิดนึง นิดเดียว