เวลาดูหนังเก่า ๆ ถ้าเราใช้จริต หรือ sensibility ในการดูหนังแบบปัจจุบันมันจะดูยาก เป็นเพราะหลายเหตุผล ทั้งสำนวนการพูดจาที่เปลี่ยนไป กริยาท่าทางการสำรวมตัวเองเปลี่ยนไป social norm ที่ไม่เหมือนปัจจุบัน หรือข้อจำกัดต่าง ๆ อย่างเทคโนโลยีการทำหนัง หรือ Hays Code ที่เป็นระเบียบข้อบังคับทางศีลธรรม เป็นเหตุผลหลักที่หนังสมัย 1930s ถึง 1960s (ซึ่ง noir ยุคคลาสสิกก็เกิดและเติบโตในช่วงเวลานี้) ถึงรู้สึกแปลก ๆ

ถ้าดูหนังยุคนั้นแล้วเจอฉากต่อสู้ พระเอกชกหน้าตัวร้ายเบา ๆ แล้วตัวร้ายกระเด็นลงไปกองกับพื้น นั่นคือทำได้แค่นั้นแหละ ถ้าทำให้สมจริงกว่านั้นก็จะผิด Hays Code หรือฉากจูบที่คนสองคน (ชายหญิงเท่านั้น ไม่งั้นผิด Hays Code) เอาปากมาชนกันสามวินาที ก็คือทำได้แค่นั้นแหละ

นอกจากนั้น Hays Code ยังเป็นต้นกำเนิดของกฎประหลาด ๆ เช่นสามีภรรยาห้ามนอนเตียงเดียวกัน ห้ามเล่าเรื่องการแก้แค้น ห้ามพูดคำเกี่ยวกับศาสนาคริสต์เช่น lord, Jesus, God ในบริบทที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา (คือห้ามสบถว่า oh my god อะไรอย่างงั้น) ห้ามแสดงวิธีก่ออาชญากรรมเช่นผลิตระเบิดหรือสะเดาะกุญแจ งัดตู้เซฟอย่างละเอียด (คงเป็นเหตุผลว่าทำไมแผนปล้นใน The Asphalt Jungle ถึงเรียบง่ายขนาดนั้น)

ระเบียบเซ็นเซอร์ที่รัดกุมแบบนี้ บางเสียงก็บอกว่า Hays Code กีดกันศิลปะภาพยนตร์ และยัดเยียดแนวคิดอนุรักษ์นิยม บางเสียงก็มองโลกในแง่ดีว่าข้อจำกัดเหล่านี้ผลักดันให้คนทำหนังใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหลบหลีกและท้าทายมัน

แล้วก็ดูจะไม่มีใครท้าทาย Hays Code ได้อย่างลื่นไหลเท่า The Big Heat

หนังเรื่องนี้เป็น film noir ที่มีความรุนแรงมากกว่าหนังเรื่องอื่นที่เราเคยดูมาแบบเทียบไม่ติดเลย หนังเรื่องอื่นพอมีคนนู้นโดนต่อย คนนี้โดนยิง ถึงมันจะเป็นความรุนแรง แต่เราในฐานะคนดูก็แค่รับรู้ โอเค คนนู้นเจ็บ คนนี้ตาย แต่ The Big Heat เข้าถึงอารมณ์ในความรุนแรงมากกว่า ถ่ายทอดความสูญเสีย ความเจ็บปวดได้มากกว่า

ซึ่งความรุนแรงทั้งหมดนั้นอยู่ในกฎกรอบของ Hays Code — เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นผ่านจอมันเทียบกับหนังสมัยใหม่ไม่ได้แน่ ๆ เราไม่ได้เห็นคนโดนยิงเลือดสาดแบบ John Wick แต่ผู้กำกับ Fritz Lang (คนเดียวกับ Metropolis นั่นแหละ) สร้าง tension ทำให้คนดูค่อย ๆ สังหรณ์ว่าสิ่งเลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้น และใช้องค์ประกอบภาพและการเคลื่อนไหวของกล้องเพื่อสื่อถึงสิ่งเลวร้ายนั้น จนคนดูเห็นภาพโดยที่ภาพนั้นไม่ปรากฏบนจอ

มันไม่ใช่เทคนิกที่ยากหรือแปลกอะไร แต่ Fritz Lang ทำออกมาได้ดีมาก

ความต่ำทรามทางศีลธรรมก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจนเช่นกัน เป็นธรรมดาที่หนัง noir จะเต็มไปด้วยตำรวจเลว โจรสิบแปดมงกุฎ และนักต้มตุ๋น แต่โลกของ The Big Heat ดูจะสกปรกโสโครกกว่าใคร ตัวละครอย่าง Mike Lagana (เล่นโดย Alexander Scourby) และ Vince Stone (Lee Marvin) กับความเยือกเย็นไม่แยแสของพวกเขาเป็นเงาดำมืดปกคลุมเมืองสมมติที่ชื่อ Kenport

ฝ่ายตรงข้ามกับเงามืดนั้นดูจะมีแค่พระเอก Dave Bannion (เล่นโดย Glenn Ford) ที่ต่อสู้กับคอร์รัปชั่นที่กัดกินเมืองแห่งนี้ ไม่ว่าจะต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไปก็ตาม

แต่ถ้าลองไปหารีวิวของ Roger Ebert อ่านดู พบว่าแกตีความหนังเรื่องนี้ได้ดำมืดกว่านี้มาก โดยถ้าดูหนังผ่านมุมมองของผู้หญิงในชีวิตของ Bannion จะพบว่า Bannion นั้นหลอกใช้ตัวละครผู้หญิงทุกคนในเรื่อง จะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม ยอมสังเวยชีวิตของคนเหล่านั้นเป็นฟืนไฟให้กับความเกลียดชังที่ Bannion มีต่อ Mike และพรรคพวก

มองแบบนี้ โลกที่หม่นหมองอยู่แล้วยิ่งดำมืดลงไปอีก