The Perks of Being a Wallflower คือหนึ่งในหนังที่เราชอบที่สุด ชอบจนต้องกลับมาดูอย่างน้อยปีละครั้ง

เราเคยพูดถึงหนังที่จบสวย vs หนังที่จบไม่สวยไปแล้วตอนเขียนถึง The Art of Getting By สรุปง่าย ๆ คือ เราคิดว่าหนังที่จบไม่สวย คือจบแบบที่ตัวละครไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นนั้นดูจะมีเมตตามากกว่าหนังที่จบแบบแฮปปี้ เพราะถึงตัวละครในเรื่องจะผ่านเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครนั้น ๆ มีมุมมองต่อโลกเปลี่ยนไป สุดท้ายแล้วพอหนังจบ มุมมองต่อโลกของคนดูก็คงจะเหมือนเดิม นั่นหมายความว่าถ้าคนดู relate กับตัวละครได้ตอนต้นเรื่อง พอหนังจบตัวละครนั้น ๆ ก็จะไม่มีคอนเนคชั่นกับคนดูหลงเหลืออยู่

แฮปปี้เอนดิ้งทำให้ตัวละครทรยศคนดู เราคิดว่างั้น

“ถ้าเราดูหนังแล้วฉากสุดท้ายเป็นภาพของตัวเอกที่มีความสุข พอเครดิตขึ้นแล้วเรามองเห็นตัวเองผ่านเงาสะท้อนของจอ พบว่าตัวเราเองยังอยู่ที่เดิม ชีวิตของเราก็เหมือนเดิม มันเหมือนโดนทอดทิ้งไหม“ นี่ โควตตัวเองซะเลย

เราว่าตอนจบของ The Perks of Being a Wallflower นั้นผสมตอนจบทั้งสองแบบได้อย่างลงตัว คนดูไม่ถูกทอดทิ้ง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความหวังทิ้งไว้เป็นหย่อม ๆ และตัวละครก็มีพัฒนาการไปตามเรื่อง อาจจะเพราะตอนจบนี่แหละที่เราชอบหนังเรื่องนี้มากนัก

หรือความชอบหนังเรื่องนี้ก็อาจจะมาจากเหตุผลที่ personal กว่านั้น สารของหนังมันสั่นพ้องกับตัวตนของเราอะ เราคิดว่าเราเป็น wallflower และทุกอย่างในหนังมันก็ดูสมจริงเหลือเกิน เหมือนกับว่ามีส่วนหนึ่งของตัวเราหลุดเข้าไปในนั้น

“He’s a wallflower. You see things. You keep quiet about them. And you understand.”

ฉากที่พระเอกยืนมองคนอื่นเต้นรำเราก็ผ่านมาแล้ว กินข้าวกลางวันคนเดียวตลอดปีก็เคยมาแล้ว สนิทกับครูมากกว่าเพื่อนร่วมชั้นก็เคยแล้วเหมือนกัน เราว่ามันเป็นสารที่เราและอินโทรเวิร์ท (พยายามจะไม่ใช้คำนี้) ทั่วโลกเข้าใจไม่มากก็น้อย

เรามีโควตจากทั้งหนังและหนังสือเรื่องนี้เซฟเก็บไว้เยอะมาก เรารู้สึกกับหนังอย่างที่พระเอกรู้สึกกับเพื่อนทางจดหมาย “[…] you helped me, even if you didn’t know what I was talking about. You made me not feel alone.” อย่างน้อยก็มีคนอื่นที่หงอยเป็นเพื่อนใช่มะ

“And in this moment, I swear, we are infinite.”