Touch of Evil
(1958)
“A policeman’s job is only easy in a police state — that’s the whole point, captain. Who’s the boss: the cop, or the law?”
พอพูดถึง film noir เรา (เราหมายถึงฉัน ไม่รู้คนอื่นเป็นหรือเปล่า) มักจะนึกถึงฉากในเมืองใหญ่ ตรอกไร้ผู้คนท่ามกลางตึกระฟ้า แสงไฟนีออนบ้าง อินแคนเดสเซนส์บ้าง เราคิดว่าเรื่องราวใน film noir จะต้องเกิดในเมืองอย่าง New York หรือ Chicago เท่านั้น ถึงจะได้ออกมาเป็นสไตล์ที่เราคาดหวัง แม้แต่ Double Indemnity ที่เกิดขึ้นในชานเมือง Los Angeles ก็ยังมีบางส่วนที่อยู่ในตัวเมืองด้วย
เราเลยแปลกใจที่เรื่องราวใน Touch of Evil เกิดขึ้นที่เมืองเล็ก ๆ ติดชายแดนเม็กซิโก ฉากหลังไม่ใช่ตึกสูงแต่เป็นเครื่องสูบน้ำมัน ไม่ใช่ห้องในโรงแรมสวยหรูแต่เป็นโมเต็ลเก่า ๆ กลางทะเลทราย แต่ถึงอย่างนั้นหนังเรื่องนี้ก็มีบุคลิกของ film noir อยู่อย่างชัดเจน
สิ่งที่เราเรียนรู้คือ ภาพจำของเราว่า film noir ควรจะเป็นยังไงนั้นไม่ถูกเอาซะเลย film noir ไม่ใช่ aesthetics แคบ ๆ แบบนั้น มันคือเนื้อหามากกว่า
เราชอบจังหวะการเดินเรื่องใน Touch of Evil มาก คือโดยปกติแล้วจังหวะการเล่าเรื่องพวกนี้จะเริ่มด้วยฆาตกรรม มีคนมาเห็นศพ ร้องกรี๊ด แล้วตัดไปหาตำรวจ และจบเรื่องด้วยการที่คนดูรู้ว่าใครเป็นคนฆ่า และฆ่ายังไง หนังเรื่องนี้ใช้จังหวะนี้เป็นตัวตั้ง คือเริ่มด้วยฆาตกรรม ซึ่งก็คือฉากระเบิดรถแบบ long take สามนาทีกว่าอันโด่งดัง
แต่พอเดินเรื่องไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าคดีระเบิดรถนั้นค่อย ๆ ลดความสำคัญลงและหลีกทางให้กับความขัดแย้งหลักของเรื่อง คือความขัดแย้งระหว่างตำรวจชาวเม็กซิกัน Vargas และตำรวจชาวอเมริกัน Quinlan
ซึ่งความขัดแย้งนั้นก็มาจากการปะทะกันระหว่างอุดมการณ์อันแน่วแน่ของ Vargas และความกังฉินแบบหลังจรดพุงของ Quinlan
Quinlan เป็นคนที่ screen presence สูงมาก ทั้งทางกายภาพ (Welles ใส่ fat suit ให้ดูอ้วนขึ้น — เรียกว่าโกงกินจนอิ่มหมีพีมัน) และผ่านพฤติกรรมของตัวละครรอบข้าง โดยเฉพาะ Menzies ที่คอยปกป้องเกียรติยศของ Quinlan อยู่ตลอด โดยทุกครั้งที่มีใครตั้งคำถามถึงการทำงานของ Quinlan ก็จะมี Menzies คอยตะโกนบอกว่า หยุดสอบสวนเขาได้แล้ว เขาเป็นคนดี หรือ ดูซิว่าคำกล่าวหาของคุณทำให้เขาเป็นทุกข์ขนาดไหน ปกติเขาไม่ดื่มเหล้าแต่ดูนี่สิ
พฤติกรรมประเภท look what you made him do นี่เราเกลียดมาก และทั้ง Vargas (Charlton Heston), Quinlan (Orson Welles), และ Menzies (Joseph Calleia) ก็แสดงได้ดีมาก
ความฉลาดของ Touch of Evil คือการเอา archetype ตัวละคร noir ที่เคร่งขรึม บึกบึน มาชำแหละให้ดูว่าการทำตัวอย่างงี้มันไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ขนาดไหน ตอนท้ายเรื่องนอกจากว่าเราจะมอง Quinlan เป็นคนทุจริตแล้ว เราอาจจะมองเขาเป็นอะไรที่แย่ยิ่งกว่า — Quinlan นั้นดื้อ ขี้งอน และทำตัวเหมือนเด็ก