Ace in the Hole
(1951)
“I can handle big news and little news. And if there’s no news, I’ll go out and bite a dog.”
หกสิบสามปีก่อนที่ Nightcrawler จะเข้าฉาย ก็มี Ace in the Hole นี่แหละที่ตั้งมาตรฐานว่าการทำข่าวโดยไร้จรรยาบรรณมันจะอุบาทว์ได้แค่ไหน
แต่ในขณะที่ Nightcrawler โฟกัสไปที่การกระทำและความรู้สึกนึกคิดของตัวละครหลัก Ace in the Hole แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสื่อที่ไร้จิตสำนึกแบบ Charlie (เล่นโดย Kirk Douglas) นั้นมีอยู่โดยลำพังไม่ได้ ต้องมีสาธารณชนที่ไร้จิตสำนึกพอ ๆ กันเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดด้วย ต้องมีระบบเชิงโครงสร้างที่เอื้อหนุนต่อการผลิตสื่อที่ไร้จรรยาบรรณนี้ด้วย — ระบบในหนังเรื่องนี้คือนายอำเภอกังฉิน เจ้าของสื่อ และบรรดาธุรกิจต่าง ๆ ในวงโคจรที่ได้กำไรจากการ sensationalize ข่าว
ก่อนที่เราจะเริ่มดูหนัง noir เราไม่เคยได้ยินชื่อผู้กำกับ Billy Wilder มาก่อน แต่ตอนนี้ในบรรดาหนัง noir ที่เราชอบ มี 3 เรื่องที่แกเป็นคนกำกับ: Double Indemnity, Sunset Boulevard, และเรื่องนี้ Ace in the Hole
ทั้งสามเรื่องนี้มีโทนคล้าย ๆ กัน คืออคติต่อสังคม การมองว่ามนุษย์ทุกคนเห็นแก่ตัว เป็นความคิดที่น่าหดหู่ ตัวละครในหนังของ Wilder มีสองแบบ — ถ้าคุณไม่ใช่ตัวร้าย คุณก็เป็นเหยื่อ
อีกมิติหนึ่งของหนังคือความหมกมุ่นกับชีวิตในเมืองและชีวิตชนบท ตั้งแต่ต้นเรื่อง Charlie แนะนำตัวเองด้วยการบอกว่าเขามาจากนิวยอร์ก เคยไปทำงานที่เมืองใหญ่ ๆ มากมาย และตลอดทั้งเรื่องเขาก็พร่ำบ่นถึง “ความบ้านนอก” ของนิวเม็กซิโก (เนื้อเรื่องของหนังเกิดขึ้นที่รัฐนิวเม็กซิโก) อย่างสนุกปาก นางเอก Mrs. Minosa (Jan Sterling) ก็ตัดพ้อถึงความน่าเบื่อของชีวิตชนบท และฝันอยากไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่
หลังจากดูหนังจบแล้ว เจอเรียงความของคนนี้เขียนเรื่อง conflict ระหว่างเมืองและชนบท น่าสนใจดี
สิ่งสำคัญที่เรียนรู้จากหนังเรื่องนี้คือ ชอบงาน Billy Wilder มาก เดี๋ยวไปหาเรื่องอื่น ๆ มาดูอีก