Mistress America
(2015)
นิสัยเสียอย่างนึงของเราคือ เวลาหนังหรือซีรีส์มีคำว่า America หรือ American อยู่ในชื่อเรื่อง เราจะไม่ค่อยอยากดู จะด้วยหมั่นไส้หรือเบื่อความคลั่งชาติหรืออะไรไร้สาระอย่างงั้น แต่มันก็ทำให้เราไม่อยากดู American Gods ทั้ง ๆ ที่ถ้าดูแล้วคงชอบ หรือไม่รู้สึกตื่นเต้นกับเทรลเลอร์ American Made อย่างที่ควรจะตื่นเต้น
แต่เราดู Mistress America เพราะชื่อสองชื่อ คือ Noah Baumbach และ Greta Gerwig ซึ่งทั้งสองคนนี้เคยร่วมงานกันมาแล้วใน Frances Ha — หนังที่เราชอบที่สุดเรื่องนึง และเราก็ดีใจที่ Mistress America ไม่ทำให้ผิดหวัง
หนังเรื่องนี้อาจจะไม่มีคำคมเท่ ๆ ให้เอาไปโควตเล่นเหมือน Frances Ha มันอาจจะไม่จุ้มปุ้กอยู่กับอารมณ์เดียวเน้น ๆ เหมือน Frances Ha แต่สิ่งที่ทั้งสองอย่างมี (และทำได้ดี) เหมือนกันคือบรรยากาศของชีวิตในเมืองใหญ่
เอาเข้าจริงความหมั่นไส้ในสรรพสิ่งที่เป็นอเมริกันอาจจะหยุดแค่ชื่อหนังก็เป็นได้ เพราะสุดท้ายเราก็คงดู American Gods และเราก็ยังชอบ How I Met Your Mother — ซีรีส์ซึ่ง romanticise romanticize เมือง New York City มากที่สุดเรื่องนึง บวกกับการยกยอชีวิตนิวยอร์กอย่างโจ่งแจ้งของทั้ง Franes Ha และ Mistress America ก็ทำให้เราแอบอยากจะบินไปดูให้มันรู้แล้วรู้รอดว่าเมืองแอปเปิลยักษ์มันจะวุ่นวายและบ้าบออย่างที่หนังพวกนี้เล่าหรือเปล่า
หนังแนะนำตัวละครหลักสองคนเหมือนหนังดราเมดี้ “ฉันเป็นโรคซึมเศร้าเพราะเข้าสังคมไม่ได้ ฮ่า ฮ่า” ทั่วไป แต่ตัวละครทั้งสองคนก็ไม่ได้ไถลลึกลงไปในคลิเช่นั้นมากนัก โดยเฉพาะ Brooke (เล่นโดย Greta Gerwig) ที่มีส่วนผสมของตัวละครอายุสามสิบต้น ๆ ที่ไม่มีความแน่ใจในชีวิตและการเผชิญกับ existential crisis อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ในขณะเดียวกันเธอก็ปกปิดความไม่แน่นอนเหล่านั้นด้วยวิถีชีวิตที่วุ่นวาย เธอเป็นทั้งนักออกแบบภายใน ครูสอนพิเศษ ครูสอนขี่จักรยาน และกำลังจะเปิดร้านอาหาร ทำให้บางทีก็ไม่แน่ใจว่าเธอทำสิ่งเหล่านี้เพราะขยัน ต้องการตามหาตัวเอง หรือเป็นแค่งานอดิเรกที่ทับถมกันจนยากจะเลิก ถึงกระนั้นทุกท่าทางการแสดงออกของเธอก็คือความเท่ ความฮิปที่ Tracy (เล่นโดย Lola Kirke) ฝันอยากจะเป็น
เราชอบตัวละครทั้งสองคนนี้ เราชอบที่ Tracy บรรยายชีวิตของ Brooke ด้วยสำนวนที่สวยงาม อาจจะหัวสูงไปนิดนึง แต่มันก็เป็นความหัวสูงแบบเดียวกับที่คนอายุ 17 บอกว่านักร้องโปรดของเขาหรือเธอคือแฟรงค์ ซินาตร้า หรือเดอะ บีเทิลส์ — นั่นคือความหัวสูง ความพรีเทนเชียสนั้นเราไม่ควรไปใส่ใจกับมันมาก
พอคนดูรู้จักสนิทสนมกับตัวละครแล้ว หนังก็จับตัวละครเหล่านั้นมาชนกัน และครึ่งหลังนี่แหละที่ต่างกับ Frances Ha อย่างลิบโลก จากหนังที่เรื่อย ๆ เฉื่อย ๆ กลายเป็นหนังที่วุ่นวาย ตัวละครพูดทับกัน ตะโกนใส่กัน กลายเป็นหนังตลกไฮอ๊อกเทนแต่ก็ยังคงสไตล์ของครึ่งแรกไว้ได้
สรุปคือดูจบแล้วเหนื่อย แต่ชอบ ชอบมากด้วย ชอบแบบที่เราชอบ Frances Ha หรือ The Art of Getting By หวังว่าคงได้ดูซ้ำอีกหลาย ๆ รอบ