The Third Man
(1949)
Film noir คือตระกูลของหนังที่ผุดขึ้นมาสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยหลาย ๆ ความเห็นที่ว่า noir เรื่องแรกคือ The Maltese Falcon ออกฉายในปี 1941 และ noir ก็เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูในช่วงสิบกว่าปีนับจากนั้น แต่ด้วยความที่เนื้อเรื่องของหนังส่วนมากเกิดขึ้นในอเมริกาหรือประเทศใกล้เคียง ผลกระทบของสงครามจึงไม่ได้มีให้เห็นชัดนัก ความเปลี่ยนแปลงในยุคหลังสงครามในอเมริกาดูจะหนักไปทางโครงสร้างสังคม อย่างตัวละครประเภท femme fatale ก็เป็นผลตอบรับจากความเปลี่ยนแปลงของบทบาททางเพศในสังคมที่แรงงานมีผู้หญิงมากขึ้น หรือใน Gilda ที่มีฉากเฉลิมฉลองความพ่ายแพ้ของเยอรมันอยู่คร่าว ๆ แต่ผลกระทบโดยตรงที่มองเห็นผ่านจอแบบโทนโท่นั้นไม่ค่อยมี
เราถึงรู้สึกว่า The Third Man ที่ถ่ายทำที่เมืองเวียนนาเป็น film noir ที่มีเอกลักษณ์ที่สุดเรื่องหนึ่ง
ประวัติศาสตร์เมืองเวียนนาในช่วง 1945-1955 นั้นน่าสนใจ หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ายึดครองกรุงเวียนนา จัดตั้งรัฐสภาเฉพาะกาล และแบ่งเขตแดนในเมืองระหว่างสี่ฝ่าย คือโซเวียต สหรัฐ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส โดยมีศูนย์กลางเมืองเป็นเขตแดนนานาชาติ (International Zone) ที่กองกำลังทั้งสี่ฝ่ายลาดตระเวนควบคู่กัน
ทำให้ผลกระทบของสงครามนั้นแทรกซึมอยู่ทุกอณูของหนัง ทหารจากทั้งสี่ชาติข้างต้นเข้ามาพัวพันกับชีวิตของตัวละครแบบหนีไม่พ้น ภูมิหลังของนางเอก Anna (เล่นโดย Alida Valli) ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองหลังสงครามด้วยเช่นกัน แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือบรรดาตึกรามบ้านช่อง ถนน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ถูกระเบิดทำลาย (ตัวเอกในหนังบรรยายไว้อย่างเยือกเย็นว่า “Bombed about a bit.”) กลายเป็นซากปรักหักพัง
แต่ในขณะเดียวกัน หนังก็ถ่ายทอดความสวยงามของเวียนนาที่รอดพ้นภัยสงครามด้วย อย่างโรงละคร Josefstadt หรือรูปปั้นของ Kaiser Josef II หน้าหอสมุดแห่งชาติออสเตรียก็เป็นสถานที่สำคัญในหนัง หรือ Palais Fries-Pallavicini ที่อยู่ตรงข้ามหอสมุดก็เป็นบ้านของตัวละครคนหนึ่ง พระเอก Holly (เล่นโดย Joseph Cotten) ก็พักอยู่ที่ Hotel Sacher ที่ในหนังเป็นที่พักของทหาร ไม่ใช่โรงแรมห้าดาวเหมือนในปัจจุบัน
ถ้าที่เขียนมานี่ดูเหมือนว่าเราอินเป็นการส่วนตัว นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าเราอินเป็นการส่วนตัว
เพราะสถานที่ในหนังเป็นสถานที่จริง มีประวัติศาสตร์จริง ๆ หอสมุดนั่นเราก็เคยเดินผ่าน Hotel Sacher เราก็เคยเข้าไปกินเค้ก (อร่อยมาก แนะนำ) ความสมจริงมันทำให้เมืองดูมีมิติขึ้นมา พอดูจบแล้วเหมือนกับว่าเรารู้จักเวียนนามากขึ้นเล็กน้อย
ฉากไคลแม็กซ์ก็เป็นอีกฉากหนึ่งที่ใช้สถานที่ในเวียนนาได้อย่างลงตัว การไล่ล่ากันในระบบระบายน้ำใต้เมืองเหมือนเป็นพื้นที่ให้ผู้กำกับ Carol Reed เล่นกับแสงเงาได้เต็มที่ อุโมงค์ยาว ๆ กับเขาวงกตที่ประกอบไปด้วยบันได ประตู ระเบียง ทางเดินคดเคี้ยว ให้ความรู้สึกสับสนเหมือนภาพวาดของ Escher
ส่วนฉากสุดท้ายของหนังนั้นเป็นฉากที่เราจะจำไปอีกนาน Roger Ebert อธิบายไว้ว่ามันเหมือนการถอนหายใจยาว ๆ เป็นฉาก long take ที่เรียบง่าย แต่เปี่ยมไปด้วยความหมาย ต้องดูเองถึงจะเข้าใจ
The Third Man อาจจะเป็น noir ที่ดีที่สุดที่เราเคยดู